(เพิ่มเติม) กขช.ให้กลับไปใช้ราคารับจำนำข้าวนาปรังที่ 15,000บาทจนถึงสิ้นสุด 15 ก.ย.56

ข่าวเศรษฐกิจ Monday July 1, 2013 15:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) มีมติให้กลับไปใช้ราคารับจำนำข้าวนาปรังที่ตันละ 15,000 บาทจนถึงสิ้นสุดโครงการรอบนี้ในวันที่ 15 ก.ย.56 โดยจะนำเรื่องเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาในวันพรุ่งนี้

ก่อนหน้านี้ ที่ประชุม กขช.เมื่อวันที่ 18 มิ.ย.ซึ่งมีนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์เป็นประธาน มีมติให้ปรับลดราคารับจำนำข้าวเปลือกเจ้านาปรังในฤดูการผลิตปี 56 ลงเหลือ 12,000 บาท/ตัน จากปัจจุบันที่รับจำนำไว้ที่ 15,000 บาท/ตัน โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.56

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง แถลงผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.)ว่า ที่ประชุมให้ความเห็นชอบคงราคารับจานาข้าวเปลือกเจ้า 100% ความชื้น 15% ที่ราคา 15,000 บาท/ตัน และข้าวชนิดอื่นๆ กลับมาที่ราคาเดิมเช่นกัน

ทั้งนี้ จะรับจำนำเฉพาะปริมาณที่ไม่เกินที่ได้ระบุไว้ในใบรับรองเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนแล้วเท่านั้น และ ในวงเงินไม่เกิน 500,000 บาท/ครัวเรือน ตามมติกขช.เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 56 สำหรับโครงการรับจำนำ ข้าวเปลือกปีการผลิต 2555/56 จะสิ้นสุดวันที่ 15 ก.ย. 56 และเฉพาะภาคใต้ภายวันที่ 30 พ.ย.56

สำหรับเกษตรกรที่เข้าโครงการรับจำข้าวในราคารับจำนำ 12,000 บาท/ตันไปแล้วนั้น รัฐบาลยืนยันว่า จะดูแลไม่ให้เสียสิทธิ์ในช่วงระหว่างรอยต่อที่จะปรับเป็นราคา 15,000 บาท/ตัน ซึ่งคาดว่ามีไม่กี่ราย โดยจะมีการจ่ายทดแทนย้อนหลัง

ส่วนราคารับจำนำสำหรับข้าวนาปีในปีหน้า จะมีการทบทวนราคาอีกครั้ง เพื่อให้สอดคล้องกับราคาของตลาดโลก โดยจะเร่งดำเนินการเพื่อให้เกษตรกรได้เตรียมตัวก่อนเข้าสู่ฤดูเพาะปลูกข้าวที่จะมาถึง ซึ่งราคาที่จะพิจารณาจะอยู่บนหลักการที่สามารถดูแลเกษตรกรให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และรักษาระเบียบวินัยการเงินการคลัง

ขณะเดียวกันเห็นชอบให้เพิ่มช่องทาง และเพิ่มประสิทธิภาพการระบายข้าวในสต็อกของรัฐบาลในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2556 ดังนี้ ให้ขายเป็นการทั่วไปกับผู้ประกอบการในประเทศเพื่อการส่งออกต่างประเทศและ/หรือจำหน่ายภายในประเทศ ทั้งข้าวหอม ข้าวเหนียว และข้าวขาว รวมทั้งขายข้าวเปลือก ในกรณีที่ผู้ซื้อมีคำสั่งซื้อข้าวนึ่งจาก ต่างประเทศ และมีโรงสีที่ดำเนินการเป็นการเฉพาะ

นอกจากนี้ ยังได้เร่งรัดให้ขยายช่องทางเดิมในการเจรจาขายแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) โดยเพิ่มประเทศเป้าหมาย และปริมาณขาย ได้แก่ ประเทศในอาเซียน จีน และแอฟริกา เป็นต้น และเร่งรัดการระบายผ่านตลาดซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย (AFET) อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้ซื้อข้าวในประเทศ และต่างประเทศ มีโอกาสในการเข้าร่วมประมูลอย่างโปร่งใส สำหรับการขายให้องค์กร หรือหน่วยงานต่างๆ ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ เพื่อสาธารณประโยชน์ และการบริจาคประเทศต่างๆ ซึ่งเป็นช่องทางเดิมก็ยังให้ดำเนินการ ต่อไป รวมถึงได้มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ เร่งดำเนินการโดยร่วมมือกับภาคเอกชน ทั้งผู้ประกอบการ ภายในประเทศ และผู้ส่งออก

ทั้งนี้ กขช.ได้พิจารณาข้อกังวลของสาธารณชนในเรื่องทุจริต เช่น การสวมสิทธิ์เกษตรกร การนำข้าวต่างประเทศมาสวมสิทธิ์ และเพื่อให้โครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลดำเนินการต่อไปด้วยความรอบคอบ สุจริต และโปร่งใส จึงมอบให้คณะอนุกรรมการระดับจังหวัดนำปัญหาที่เกิดขึ้นไปปรับปรุงหลักเกณฑ์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ตำรวจ ทหาร ตำรวจชายแดน ตรวจตราบริเวณชายแดนอย่างเข้มงวดเพื่อป้องกันการลักลอบนำเข้าข้าวต่างประเทศมาสวมสิทธิ และให้กระทรวงเกษตรฯ เข้มงวดในการขึ้นทะเบียนเกษตรกรให้ถูกต้อง มอบหมายกระทรวงพาณิชย์ องค์การคลังสินค้า (อคส.) องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) ให้ กำกับดูแล ณ จุดรับจำนำ และคลังสินค้า ติดกล้อง CCTV ให้สาธารณชนร่วมตรวจสอบได้ เชื่อมโยงระบบการขึ้นทะเบียนเกษตรกร การออกใบประทวน การจ่ายเงินให้เกษตรกร และการส่งข้าวจากโรงสีเข้าคลังกลาง เพื่อให้สามารถตรวจสอบข้อมูลย้อนกลับได้ระหว่างหน่วยงาน และรายงานการดำเนินงานให้ที่ประชุมครั้งต่อไป

ส่วนการเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูกข้าว เพื่อลดต้นทุนการผลิตข้าว และเพิ่มรายได้ให้ชาวนา (โซนนิ่ง) ที่ประชุมเห็นชอบตามที่กระทรวงเกษตรฯ เสนอ ซึ่งได้กำหนดเขตความเหมาะสมสำหรับปลูกข้าว โดย ผลผลิตเฉลี่ยในเขตชลประทาน 700 กก./ไร่ขึ้นไป และ นอกเขตชลประทาน แต่อยู่ในเขตโซนนิ่ง ได้ 500 กก./ไร่ รวมทั้งสิ้น 43.9 ล้านไร่ ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ จะมีการพัฒนาคุณภาพข้าวให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด จัดระบบการปลูกข้าวในเขตพื้นที่ชลประทาน ซึ่งจะมีการสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ และปัจจัยอื่นๆ ที่ มีความจำเป็นเพื่อเป็นมาตรการจูงใจ โดยจะดำเนินการปรับระบบการปลูกข้าวปีละไม่ต่ำกว่า 500,000 ไร่ ทั้งนี้จะเป็นการบูรณาการร่วมกันระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพลังงาน กระทรวงมหาดไทย และผู้ประกอบการ เพื่อร่วมดำเนินการขับเคลื่อนในทุกๆ ด้าน และจะต้องมีมาตรการจูงใจ เพื่อให้เกษตรกรได้พิจารณาเลือกในการตัดสินใจในการปรับเปลี่ยน และเพิ่มรายได้ของเกษตรกร โดยจะนำผลการประชุม กขช. เสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่ 2 ก.ค.นี้

ขณะที่ นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า ได้ขอความร่วมมือกับผู้ค้าข้าวในประเทศที่จะร่วมมือกับภาครัฐในการระบายข้าวทั้งในและนอกประเทศ โดยจะมีการระบายข้าวทุกประเภท ส่วนการระบายข้าวเปลือกเพื่อผลิตเป็นข้าวนึ่งส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ เช่นในภูมิภาคแอฟริกา ประเทศไทย ถือเป็นตลาดผู้ค้าข้าวที่ผลิตข้าวนึ่งส่งออกอยู่ แต่จะขยายไปในภูมิภาคอื่นๆ เพื่อให้การระบายข้าวได้ในปริมาณหนึ่งแสนตันต่อเดือน นอกจากนี้จะเร่งรัดขยายช่องทางในการเจรจาขายแบบรัฐต่อรัฐ

ด้านนายยรรยง พวงราช รมช.พาณิชย์ กล่าวเสริมว่า ราคารับจำนำข้าวทุกชนิดต่อตัน ประกอบด้วย ข้าวเปลือกเจ้า 5% ราคาอยู่ที่ 14,800 บาท ข้าวเปลือกเจ้า 10% ราคาอยู่ที่ 14,600 บาท ข้าวเปลือกเจ้า 15% ราคาอยู่ที่ 14,200 บาท ข้าวเปลือกเจ้า 25% ราคาอยู่ที่ 13,800 บาท ส่วนข้าวเปลือกปทุมธานี 42 กรัม ราคาอยู่ที่ 16,000 บาท ข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว 10% 42 กรัม ราคาอยู่ที่ 16,000 บาท ข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดสั้น 10% 40 กรัม ราคาอยู่ที่ 15,000 บาท

"เรื่องการระบายข้าวรัฐบาลพยายามผลักดันทวงคืนความเป็นที่หนึ่งของตลาดข้าวนึ่ง ซึ่งได้เสียแชมป์ให้กับประเทศอินเดียไปเมื่อช่วงปีที่ผ่านมา จากเดิมที่ขายได้ 4 ล้านตัน แต่ปัจจุบันขายได้เพียง 1 ล้านกว่าตัน ซึ่งรัฐบาลจะเน้นในการดึงตลาดข้าวนึ่งกลับมาให้ได้ ส่วนการระบายข้าวขาวจะมุ่งไปที่ตลาดใหญ่ คือ ประเทศอินโดนีเซีย ขณะเดียวกันรัฐบาลตั้งใจที่จะดำเนินการระบายข้าวในช่วงครึ่งปีหลังให้ได้ถึง 5-6 ล้านตัน ซึ่งปัจจุบันสามารถระบายข้าวไปแล้ว 4 ล้านตัน หรือคิดเป็นวงเงินจำนวน 7.2 หมื่นล้านบาท และขณะนี้มีข้าวอยู่ในสต๊อก 17 ล้านตัน"นายยรรยง กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ