(เพิ่มเติม) พาณิชย์ เผย CPI มิ.ย.56 ขยายตัว 2.25%,Core CPI ขยายตัว 0.88%

ข่าวเศรษฐกิจ Monday July 1, 2013 16:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางวัชรี วิมุกตายน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป(CPI)เดือน มิ.ย.56 อยู่ที่ 105.31 เพิ่มขึ้น 2.25% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 0.15% จากเดือน พ.ค.56 ขณะที่ตัวเลข CPI เฉลี่ย 6 เดือนแรกของปีนี้(ม.ค.-มิ.ย.56) เพิ่มขึ้น 2.70% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
"การเคลื่อนไหวของดัชนีราคาผู้บริโภค ยังคงเพิ่มขึ้นในอัตราชะลอตัวลงต่อเนื่องจากเดือนที่ผ่านมา ตามการเคลื่อนไหวของราคาสินค้าหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มเป็นสำคัญ..เป็นครั้งแรกที่หลุดกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อในปีนี้ที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าหมายไว้ที่ 2.8-3.4%" นางวัชรี กล่าว

ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน(Core CPI) เดือน มิ.ย.56 อยู่ที่ 103.07 เพิ่มขึ้น 0.88% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 0.09% จากเดือน พ.ค.56 โดยตัวเลข Core CPI เฉลี่ย 6 เดือนแรกของปีนี้เพิ่มขึ้น 1.23% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

สำหรับดัชนีราคาสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่มเดือน มิ.ย.56 อยู่ที่ 108.85 เพิ่มขึ้น 3.52% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน แต่ลดลง 0.07% จากเดือน พ.ค.56 ขณะที่ดัชนีราคาสินค้าที่ไม่ใช่หมวดอาหารและเครื่องดื่มเดือน มิ.ย.56 อยู่ที่ 103.22 เพิ่มขึ้น 1.59% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 0.27% จากเดือน พ.ค.56

"แรงกดดันต่อเงินเฟ้อในปัจจุบันไม่ได้สูงขึ้นมากนัก เนื่องจากราคาอาหารสดค่อยๆ ปรับตัวลดลงเข้าสู่ระดับปกติตามสภาพภูมิอากาศที่เอื้ออำนวย และเป็นฤดูกาลของผัก ผลไม้บางชนิด ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้น ประกอบกับราคาสินค้าและบริการอื่นๆ ไม่ได้ปรับตัวสูงมากนัก โดยดัชนีราคาผู้บริโภคเฉลี่ย 6 เดือนต่ำกว่าที่กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ ขณะที่ภาครัฐยังคงมาตรการดูแลด้านค่าครองชีพของประชาชนและราคาพลังงาน ส่งผลให้ภาวะการใช้จ่ายด้านการบริโภคภาพรวมยังอยู่ในเกณฑ์ดีมีเสถียรภาพ"นางวัชรี กล่าว

ดัชนีราคาสินค้าหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มเป็นสำคัญสูงขึ้น 0.27% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน เป็นการปรับตัวสูงขึ้นในทุกหมวดสินค้า โดยเฉพาะการสูงขึ้นของหมวดน้ำมันเชื้อเพลิงจากราคาขายปลีกโดยเฉลี่ยในประเทศที่ปรับตัวสูงขึ้นตามภาวะราคาตลาดโลก และค่าเงินบาทเริ่มอ่อนค่าลง สำหรับสินค้าหมวดอื่นๆที่ปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ หมวดการศึกษาในส่วนค่าเล่าเรียนและค่าธรรมเนียมการศึกษา หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า หมวดเคหสถาน หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล และหมวดเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์

ขณะที่หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ดัชนีลดลงร้อยละ 0.07 จากการลดลงของราคาหมวดผักและผลไม้ โดยดัชนีลดลงร้อยละ 2.34 เนื่องจากมีผลผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้น ขณะที่สินค้าหมวดอื่นๆ มีราคาสูงขึ้น ได้แก่ หมวดไข่ หมวดเนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำ ราคาโดยเฉลี่ยยังสูงขึ้น เนื่องจากความต้องการบริโภคที่เพิ่มขึ้น เช่นเดียวกันกับปลาและ สัตว์น้ำ บางชนิดที่ได้รับผลกระทบจากฤดูมรสุม ทำให้มีปริมาณผลผลิตไม่เพียงพอกับความต้องการ นอกจากนี้หมวดเครื่องประกอบอาหาร หมวดข้าว แป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้ง และหมวดอาหารสำเร็จรูปมีราคาสูงขึ้นเช่นกัน

สำหรับเดือน มิ.ย.56 มีสินค้าที่ราคาสูงขึ้น 211 รายการ สินค้าที่ราคาลดลง 84 รายการ และสินค้าที่ราคาไม่เปลี่ยนแปลง 155 รายการ จากการสำรวจสินค้าทั้งหมด 450 รายการ

ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อปี 56 ในกรอบ 2.8-3.4% นั้นจะอยู่ภายใต้สมมติฐานราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ 100-120 ดอลลาร์/บาร์เรล อัตราและเปลี่ยนอยู่ที่ 28.50-32.50 บาท/ดอลลาร์ ขณะเดียวกันรัฐบาลยังคงดำเนินนโยบายลดค่าครองชีพเพื่อช่วยเพื่อประชาชนต่อไป และคาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อจะใกล้เคียงกับปี 55 ที่ระดับ 3.02%

"แต่จะยังไม่มีการพิจารณาเป้าปรับหมายเงินเฟ้อในปีนี้ โดยจะขอรอดูอีกสองเดือนเพื่อครบทั้งไตรมาสก่อน และสถานการณ์ยังเป็นภาวะปกติ ไม่เคยปัญหาเงินฝืด และภาวะเงินเฟ้อในเดือนหน้าก็คงจะใกล้เคียงกันกับสองเดือนที่ผ่านมา" นางวัชรี กล่าว

ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า หากจะมีการพิจารณาปรับเป้าหมายเงินเฟ้อในปีนี้ต้องมาจากปัจจัยเรื่องราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ระดับ 90-95 ดอลลาร์/บาร์เรล และรัฐบาลปรับเปลี่ยนมาตรการใดๆ ที่ส่งผลต่อการอุปโภคบริโภคที่มีผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ