(เพิ่มเติม1) ผู้ประกอบการแห่ร่วมทดลองทดสอบระบบการประมูลทีวีดิจิตอล

ข่าวเศรษฐกิจ Monday July 1, 2013 16:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธาน กสทช.ในฐานะประธานกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์(กสท.) เปิดเผยว่า ในวันนี้ กสท.ได้เปิดให้มีการทดลองทดสอบการประมูลคลื่นความถี่(PreMock Auction) เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลก่อนจะจัดให้มีการจำลองประมูลสำหรับผู้ประกอบการ โดยจะจัดขึ้น 3 รอบ และสื่อมวลชนอีกรอบ

ทั้งนี้ ในช่วงเช้าวันนี้มีผู้ประกอบการเข้าร่วมทดลองทดสอบ PreMock Aution 10 ราย ได้แก่ บมจ.เนชั่น บรอดแคสติ้ง คอร์ปอเรชั่น(NBC), บมจ.เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์(WORK), บมจ.อสมท (MCOT), ทรูวิชั่นส์, Voice TV, บมจ. อาร์เอส(RS), บมจ.โมโน เทคโนโลยี(MONO), บมจ.จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่(GRAMMY), บริษัท กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด(ช่อง7) และ มีเดียสตูดิโอ(บริษัทในกลุ่มช่อง7)

ส่วนช่วงบ่ายมี 2 รอบ คือ ช่วง 13.30 น.และ 15.00 น.มีผู้ประกอบการ ได้แก่ บมจ.อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง(AMARIN), บมจ.โพสต์ พับลิชชิ่ง(POST), บมจ.ชิน คอร์ปอเรชั่น(INTUCH), บมจ.บีอีซีเวิลด์(BEC), โรสมีเดีย, ไทยรัฐทีวี, บริษัท จีเอ็มเอ็ม แซด จำกัด(GMMz), เบเคอร์แอนด์แมคเคนซี่, บมจ.จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล(JAS) และ 3A marketting(ผู้ผลิตรายการช่อง 5 หน้าหนึ่ง)

สำหรับขั้นตอนการดำเนินการในวันนี้จะทำแบบจำลองลักษณะสถานการณ์จริง โดยสื่อมวลชนที่เข้าร่วมการทดลองจะได้รับแบบจำลองธุรกิจพร้อมวงเงินสำหรับประมูลให้ด้วย รอบนี้จะกำหนดราคาเริ่มต้นการประมูลไว้ที่ 500 ล้านบาท กำหนดราคาขั้นต่ำไว้ที่ 500 ล้านบาท กำหนดการเสนอราคาเพิ่มครั้งละ 5 ล้านบาท ทั้งนี้มีจำนวนใบอนุญาตสำหรับการประมูลครั้งนี้ 5 ใบอนุญาต

ในการทดลองประมูลคลื่นความถี่จะกำหนดให้ใช้เวลา 60 นาทีเท่ากับการประมูลจริง ผู้เข้าร่วมประมูลต้องกดเสนอราคาใน 5 นาทีแรก หากไม่เสนอราคาภายใน 5 นาทีแรกผู้ร่วมประมูลจะถูกตัดสิทธิเป็นการเข้าร่วมประมูลทันที

การเคาะราคาแต่ละครั้งจะมีราคาเพิ่มขึ้นตามที่กำหนด ในครั้งนี้คือครั้งละ 5 ล้านบาท กรณีที่ครบ 60 นาทีแล้วยังมีผู้เสนอราคาเท่ากันเกินกว่าจำนวนช่องที่ประมูล จะต่อเวลาเพิ่มอีกครั้งละ 5 นาที เมื่อสิ้นสุดการขยายเวลาและไม่มีการเสนอราคาเพิ่มขึ้น ระบบจะยุติการประมูลและให้ผู้เข้าการประมูลที่เสนอราคาเท่ากันจับฉลากหาผู้ชนะการประมูล เมื่อจบการประมูลผู้เสนอราคาสูงสุดไล่ลงมาตามจำนวนช่องที่เปิดประมูลจะเป็นผู้ชนะการประมูล

กรณีครบ 5 นาทีแรกแล้วพบว่ามีจำนวนผู้เข้าร่วมประมูลน้อยกว่าหรือเท่ากับจำนวนใบอนุญาตที่มีระบบขึ้นข้อความเตือนและจะยุติการประมูลในครั้งนี้

หลังจากวันนี้ สำนักงาน กสทช.จะนำข้อคิดเห็นข้อเสนอแนะที่ได้จากการทดลองทดสอบประมูลคลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลรอบก่อนจะจัดให้มีการจำลองประมูล(PreMock Auction) ในวันนี้ไปปรับปรุงพัฒนาต่อไป

ด้านนายทรงศักดิ์ เปรมสุข ประธานกรรมการ Voice TV กล่าวภายหลังร่วมทดลองทดสอบว่า กสทช.น่าจะจัดการทดลองระบบให้ใกล้เคียงความจริงมากที่สุด วันนี้เป็นเพียงตัวอย่างเคาะราคาเพื่อให้เห็นสภาะการแข่งขัน ทั้งนี้ Voice TV มองว่าการเข้าร่วมประมูล เปิดโอกาสผู้ประกอบการเข้าสู่ฟรีทีวี โดยบริษัทจะเข้าประมูลอย่างน้อย 1 ช่อง อาจเป็นช่องข่าว อย่างไรก็ตามก็ต้องศึกษาค่าใช้ต่ายรายได้ของแต่ละช่อง

นายอาณัคิ เมฆไพบูลย์วัฒนา กรรมการผู้จัเการใหญ่ บมจ.ทรูวิชั่นส์ กล่าวว่า การเข้าร่วมทดสอบวันนี้เป็นไกด์ไลน์ และถ้าหากทรูวิขั่นส์ประมูลได้สำเร็จจะเปิดโอกาสให้บริการฟรีทีวี นอกเหนือจากเคเบิลทีวีที่ทำอยู่ ทรูวิชั่นส์จะเจ้าร่วมประมูล 3 ช่อง คือ ช่อง HD ช่อง SD และช่องเด็ก ซึ่งอยากให้ กสทช.พิจารณาให้เปิดกว้างให้ประมูลช่อง HD และช่องข่าวได้ด้วย ซึ่ง กสทช.ได้กำหนดไม่ให้ประมูลข่อง HD กับช่องข่าวพร้อมกัน และยอมรับว่าราคาเช่าโครงข่ายดิจิตอลก็เป็นส่วนหนึ่งในกาคำนวณราคาใบอนุญาต

ส่วนนายชลากรณ์ ปัญญาโฉม ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธุรกิจโทรทัศน์ บมจ.เวิร์คพ้อยท์เอ็นเตอร์เทนเมนต์(WORK) กล่าวว่า บริษัทมีความสนใจเข้าร่วมประมูลอย่างน้อย 1 ช่องคือช่อง SD หรือเป็น 2 ช่อง คือช่องเด็ก โดยเตรียมเงินทุนจากกระแสสดที่มี 300-400 ล้านบาท และจากเงินกู้

ขณะที่นายเอนก เพิ่มวงศ์เสนีย์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.อสมท.(MCOT)เปิดเผยว่า บริษัทฯคาดจะประมูลทีวีดิจิตอล 3 แนวทาง คือ ช่อง HD 1 ช่อง ,SD HD 2 ช่อง,และ SD 1 ช่อง โดยเป็นช่องวาไรตี้และช่องเด็กกับครอบครัว ซึ่งจะต้องพิจราณาก่อนว่าผู้ที่เข้าร่วมประมูลนั้นๆจะเข้าประมูลในช่องดังกล่าวกี่ราย หรือในช่อง HD อาจจะเข้าไปร่วมทุนกับรายอื่น และประมูลช่อง SD อย่างเดียว แล้วมาอัพเกรดเป็น HD ใน 2-3 ปีข้างหน้า เนื่องจากมองว่าการประมูลช่อง HD 1 ช่องจะเท่ากับการประมูล SD 2 ช่อง

การประมูลในครั้งนี้ทางบริษัทฯ ได้เตรียมงบลงทุนไว้ 2,000 ล้านบาท ส่วนการประมูลผู้ให้บริการโครงข่าย หรือ MUX จำนวน 1,000 ล้านบาท และอินฟาร์สตรัคเจอร์จำนวน 600 ล้านบาท

ทั้งนี้ บริษัทฯ มีความพร้อมในการประมูลคลื่นความถี่ เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ประเภทบริการทางธุรกิจระดับชาติ พ.ศ. .... ไม่ว่าจะเป็นด้านของโครงข่าย รวมถึงด้านวิศวะกร เพื่อรองรับการให้บริการด้านโครงข่ายก่อนถึงปี 58 ซึ่งจะมีความพร้อม 50%

นายเอนก กล่าวว่า ในวันพรุ่งนี้จะเดินทางไปหารือร่วมกับผู้ประกอบการทั้ง 4 ราย ที่มีช่อง 5 ช่อง 9 ช่อง 11 และไทยพีบีเอส ในเวลา 10.00 น. เพื่อหารือเกี่ยวกับความร่วมมือที่จะใช้โครงข่ายร่วมกันอย่างไร และด้านราคาโครงข่าย รวมถึงเรื่องของเทคนิคต่างๆ

ขณะที่นายวัชร วัชรพล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท วัชรพล จำกัด (ไทยรัฐทีวี) กล่าวก่อนเข้าลองทดสอบประมูลทีวีดิจิตอลว่า บริษัทฯ คาดจะประมูลทีวีดิจิตอลจำนวน 1 ช่อง หรือสูงสุด 2 ช่อง เป็นประเภทช่องรายการข่าว เตรียมงบลงทุนไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท โดยจะใช้ชื่อในการประมูลว่า"ทริปเปิ้ลวีบอร์ดแคส"และสามารถทำการออกอากาศได้ในเดือนกันยายนนี้ ส่วนเรื่องของบุคลากร ขณะนี้ได้เตรียมพร้อมเรื่องดังกล่าวแล้ว และทางบริษัทฯ ยังคงเปิดรับพนักงานด้านโทรทัศน์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะมีไม่ต่ำกว่า 200 คน

"ยอมรับว่าเป็นน้องใหม่ในวงการโทรทัศน์ และเป็นความท้าทายในการถ่ายทอดในรูปแบบวิดิโอ ภาพเคลื่อนไหว และเป็นสิ่งที่ตื่นเต้น และเป็นโอกาสที่เปิดให้หลายคนเข้ามาร่วมประมูล เข้ามาอยู่ในธุรกิจนี้" นายวัชร กล่าว

ส่วนสิ่งที่กังวลคือ เรื่องของกฎระเบียบทั่วๆไปที่ยังไม่มีความชัดเจน ซึ่งสิ่งที่อยากได้รับความชัดเจนที่สุดคือ เรื่องของสัดส่วนรายการ และการ Share partner รวมถึงราคาของผู้ให้บริการโครงข่าย หรือ MUX ซึ่งอยากให้ราคาค่าเช่าอยู่ที่ 30 ล้านบาท

ด้านนายครรชิต ควะชาติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายธุรกิจดิจิตอลทีวี บมจ.จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่(GRAMMY) เปิดเผยว่า บริษัทฯจะเข้าร่วมประมูลทีวีดิจิตอลจำนวน 3 ช่อง เป็นช่องวาไรตี้หรือบันเทิงเป็นหลัก และมีการเตรียมงบลงทุนไว้ 4,000 ล้านบาท พร้อมกันนี้จะสามารถออกอากาศได้เลยทางช่องแกรมมี่ วัน เนื่องจากทางช่องดังกล่าวมีการออกอากาศอยู่แล้วในขณะนี้

"เรามีความพร้อมในการประมูล และมีความมั่นใจที่จะประมูลให้ได้ทั้ง 3 ช่อง เนื่องจากแกรมมี่เป็นช่องที่ทำคอนเท้น การที่มีทีวีดิจิตอล จะเป็นส่วนที่จะช่วยสงเสริมในการดำเนินธุรกิจหลายๆด้านของเรา" นายครรชิต กล่าว

ทั้งนี้ยังมีความกังวลเรื่องของราคาค่าเช่าโครงข่าย ราคาค่าบริการ การจับคู่การทำธุรกิจ ซึ่งยังไม่มีความชัดเจน เนื่องจากจะส่งผลเสียอย่างมากในการดำเนินธุรกิจ โดยอยากเห็นที่มาที่ไปของต้นทุนราคา MUX

ส่วนนางระริน อุทกพันธุ์ ปัญจะรุ่งโรจน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.อมรินทร์ พริ้นติ้ง(AMARAIN) เปิดเผยว่า บริษัทฯ จะเข้าร่วมประมูลอย่างน้อย 1 ช่องคือช่อง SD วาไรตี้ อย่างไรก็ดีต้องรอความชัดเจนจาก กสทช.จึงจะประเมินหรือคำนวณงบปีมาณการลงทุน แต่เชื่อว่าการเงินไม่มีปัญหา และยอมรับว่าการเข่าสู่ธุรกิจทีวีถือเป็นจุดเปลี่ยนของบริษัทฯ เพราะงบโฆษณาส่วนใหญ่อยู่ในสื่อทีวี จากที่บริษัทเน้นสื่อสิ่งพิมพ์

"ถ้าเราไม่พร้อมก็คงไม่เข้าประมูล คิดว่าเป็นก้าวใหญ่ของเรา เพราะที่ผ่านมา เราทำแต่ละอย่างค่อยเป็นค่อยไป ถ้าวันนี้เราไม่ขึ้นช่องทีวี sattalite เราก็ไม่กล้ามาร่วมประมูล" นางระริน กล่าว

ทั้งนี้เมื่อ 6 เดือนที่แล้ว บริษัทฯ ได้เปิดช่องดาวเทียม 1 ช่อง ใช้งบ 50-100 ล้านบาท และปีนี้ตั้งงบสำหรับทีวีดาวเทียมไว้ 200 ล้านบาท

ขณะที่ พ.อ.นที กล่าวว่า การเปิดทดลองทดสอบวันนี้ไม่ได้ใช้ระบบซอฟท์แวร์และฮาร์ดแวร์จริง แต่เป็นแนวทางการประมูลให้ผู้ร่วมประมูล จากนั้นจะเปิดให้ทดลองทดสอบด้วยซอฟท์แวร์และฮาร์ดแวร์จริง ทั้งนี้ระยะเวลาประมูล 60 นาทีมีความเหมาะสมแล้ว และยังยืนยันว่าจะเปิดประมูลในเดือน ก.ย.- ต.ค.นี้ แต่สถานที่จัดประมูลยังไม่ชัดเจน โดยคาดหวังว่าจะประกาศค่าเช่าโครงข่ายและจะประกาศเชิญชวนร่วมเข้าประมูลดิจิตอลทีวีในเดือน ส.ค.

"เราไม่อยากให้มีผู้ประมูลมากเกินพอดี เราไม่ต้องการให้เสนอราคาเกินกว่าสิ่งที่เสนอ เราต้องการเป็นผู้ประกอบการจริงๆ" พ.อ.นที กล่าว

อย่างไรก็ตาม บมจ.บีอีซีเวิลด์(BEC) ไม่ได้ส่งตัวแทนเข้าร่วมทดลองทดสอบประมูลในครั้งนี้ตามที่ กสทช.ได้แจ้งไว้ แต่มีรายอื่นเข้ามาร่วมเพิ่มเติม ได้แก่ บริษัท บางกอกมีเดียบรอดคาสติ้ง ซึ่งอยู่ในเครือของบริษัท บางกอกแอร์เวย์ส ที่ต้องการเข้าประมูลในช่อง HD เพื่อออกรายการเกี่ยวกับการแพทย์ สาธารณสุข และบริษัท มีเดียรีสอร์ทแมเนจเม้นท์


แท็ก กสทช.   กสท.  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ