"ระหว่างวันที่ 3-7 กรกฎาคม 2556 นี้ จะนำคณะผู้บริหารของกระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(BOI) ร่วมเดินทางไปสาธารณรัฐโปแลนด์ และสาธารณรัฐตุรกี ซึ่งเป็นโอกาสเดียวกับที่นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะเยือนทั้ง 2 ประเทศ โดยมีนักธุรกิจเอกชน 30 รายร่วมเดินทางไปด้วย เพื่อสานความสัมพันธ์และส่งเสริมการค้าการลงทุนร่วมกัน" นายประเสริฐ บุญชัยสุข รมว.อุตสาหกรรม กล่าว
โดยวันที่ 4 ก.ค.56 บีโอไอ พร้อมด้วยกระทรวงการต่างประเทศ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ และ ททท.จะร่วมกับหน่วยงานส่งเสริมการลงทุนของโปแลนด์(Polish Information and Foreign Investment Agency:PAlilZ) จัดสัมมนาในหัวข้อ "ความร่วมมือและโอกาสทางธุรกิจระหว่างไทย-โปแลนด์" โดยมีนายกรัฐมนตรีของไทย และนายโดนัลด์ ทุสค์ นายกรัฐมนตรีโปแลนด์ ร่วมเป็นประธาน ซึ่งคาดว่าจะมีนักธุรกิจเข้าร่วมงานครั้งนี้ประมาณ 200 ราย
ภายในงานจะมีการจัดนิทรรศการแสดงสินค้าและผลิตภัณฑ์ ซึ่งสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.) จะนำผลิตภัณฑ์โอทอปด้านไลฟ์สไตล์เข้าร่วมแสดง รวมทั้งมีการแสดงศิลปวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวของฝ่ายไทย หลังจากการสัมมนาจะมีการจัดให้มีกิจกรรมเจรจาจับคู่ธุรกิจระหว่างนักธุรกิจไทยและนักธุรกิจโปแลนด์ ในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ พลังงานทดแทน ท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ ธุรกิจก่อสร้าง และธุรกิจอาหารแปรรูป เป็นต้น
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีของไทยและนายกรัฐมนตรีของโปแลนด์ จะร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนามบันทึกความเข้าใจ(Memorandum of Understand-MOU) ระหว่างบีโอไอ และหน่วยงานส่งเสริมการลงทุนของโปแลนด์(PAlilZ) เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการลงทุนระหว่างกัน หลังจากการประชุมทวิภาคีสองฝ่ายอีกด้วย
หลังจากนั้นวันที่ 6 ก.ค.56 นายกรัฐมนตรีจะเป็นหัวหน้าคณะนำหน่วยงานราชการไทย และนักธุรกิจไทย ไปร่วมพบหารือกับนักธุรกิจรายใหญ่ของตุรกีกว่า 30 ราย ณ เมืองอิสตันบูล สาธารณรัฐตุรกี
"กิจกรรมสัมมนาและพบปะนักธุรกิจทั้ง 2 ประเทศ จะช่วยกระตุ้นให้เกิดความร่วมมือระหว่างกันได้มากขึ้น โดยทั้งโปแลนด์และตุรกี เป็นประเทศที่มีศักยภาพในการเพิ่มความร่วมมือกับไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โปแลนด์ เป็นสมาชิกสหภาพยุโรป และเป็นประตูสู่ยุโรปตะวันออกด้วย จึงเป็นโอกาสของนักลงทุนไทยในการไปลงทุนและผลิตสินค้าที่ได้ตามมาตรฐาน เช่น ชิ้นส่วนยานยนต์ ชิ้นส่วนไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ ตลอดจนอาหารสำเร็จรูป ซึ่งจะสามารถกระจายไปยังตลาดประเทศอื่นๆ ได้ง่ายและสะดวกขึ้น" นายประเสริฐ กล่าว
สำหรับประเทศตุรกีอยู่ระหว่างการเตรียมเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป เป็นประเทศที่โดดเด่นในด้านเป็นศูนย์กลางทางการบินและแหล่งพลังงานที่เชื่อมระหว่างทวีปยุโรป กับเอเซีย และเป็นหนึ่งในประเทศยุทธศาสตร์ของไทยที่จะขยายการค้าการลงทุนระหว่างกัน โดยเฉพาะความร่วมมือกันในด้านอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล ที่มีเป้าหมายขยายตลาดไปสู่สหภาพยุโรป รวมทั้งตุรกีมีศักยภาพในการก่อสร้างสูง และกำลังก่อสร้างระบบราง New Silk Route จากยุโรป ไปจีน
ด้านนายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย เลขาธิการ BOI กล่าวว่า ปัจจุบันการลงทุนจากสาธารณรัฐโปแลนด์และสาธารณรัฐตุรกี ในประเทศไทยยังมีน้อย BOI จึงได้ตระหนักถึงโอกาสที่จะกระตุ้นการลงทุนระหว่างกันให้มากขึ้น ปัจจุบันมีนักลงทุนไทยหลายกลุ่มที่เข้าไปลงทุนในโปแลนด์จนประสบความสำเร็จแล้ว อาทิ บริษัท ลักกี้ ยูเนี่ยนฟู้ด ผลิตปูอัด, บริษัท ส.ขอนแก่น ผลิตไส้กรอกอีสาน, บริษัท สยามซีเมนต์ เทรดดิ้ง ทำธุรกิจจัดซื้อจัดหาวัตถุดิบในการรีไซเคิล เป็นต้น
ขณะที่สาธารณรัฐตุรกีเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการเข้าไปตั้งฐานการผลิตในหลายอุตสาหกรรม เนื่องจากมีขนาดเศรษฐกิจเป็นอันดับที่ 16 ของโลก รวมถึงเป็นประตูการค้าไปสู่ภูมิภาคบอลข่าน ทะเลดำ ตะวันออกกลาง และเอเชียกลางได้ โดยไทยและตุรกียังมีศักยภาพที่จะร่วมมือกันได้ในหลายสาขา เช่น อุตสาหกรรมอาหารฮาลาล การต่อเรือ สิ่งทอ การก่อสร้าง และการแปรรูปผลิตภัณฑ์เกษตร เป็นต้น บริษัทไทยที่เข้าไปลงทุนแล้ว ได้แก่ กลุ่มซีพี ดำเนินธุรกิจเลี้ยงไก่ครบวงจรเพื่อส่งออกไปในกลุ่มสหภาพยุโรป