Xinhua's Interview: ซีอีโอบาร์เคลย์สชี้นโยบาย Likonomics ส่งเสริมการเติบโตอย่างยั่งยืนของจีน

ข่าวต่างประเทศ Wednesday July 3, 2013 13:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายแอนโทนี เจนกินส์ ซีอีโอบาร์เคลย์ส ชี้คณะกรรมการร่างนโยบายการเงินจีนมีการดำเนินงานจัดการที่ดี อีกทั้งนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจของนายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียง ของจีน ยังเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจจีนอย่างยั่งยืน

ซีอีโอบาร์เคลย์สให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซินหัวว่า วิกฤติทางการเงินในระบบการธนาคารทั้งหมดมีรากฐานมาจากสองปัจจัยสำคัญ

ปัจจัยแรก คือ ความเสี่ยงที่ถูกตีความผิด การประเมินมูลค่าผิด และการบริหารจัดการแบบผิดๆ ส่วนปัจจัยที่สองนั้นได้แก่ภาวะขาดแคลนสภาพคล่อง

เขาได้เผยกับสำนักข่าวในระหว่างการเดินทางเยือนจีนอย่างเป็นทางการครั้งแรกในฐานะซีอีโอคนใหม่ของบาร์เคลย์สว่า ถ้าเรามีมาตรการลดความเสี่ยง เพื่อรับมือกับความเสี่ยงที่มีการจัดการและประเมินมูลค่าที่ไม่ถูกต้อง วิกฤติดังกล่าวก็จะไม่เกิดขึ้น

กว่า 2 สัปดาห์มาแล้ว อัตราดอกเบี้ยอินเตอร์แบงก์ข้ามคืนของจีนปรับตัวเพิ่มขึ้นแตะระดับ 10% เมื่อเทียบกับระดับปกติที่อยู่ประมาณ 2% โดยธนาคารกลางจีน ได้รอดูท่าทีอยู่ 2-3 วันก่ อนที่จะใช้แผนสนับสนุนแก่ภาคการธนาคาร

ขณะที่นักวิเคราะห์การตลาดเชื่อว่า การดำเนินการดังกล่าวมีจุดประสงค์เพื่อกดดันให้ธนาคารต่างๆออกมาตรการลดภาระหนี้ และสร้างความได้เปรียบจากสภาพคล่องในปัจจุบัน การเคลื่อนไหวในครั้งนี้ได้ส่งสัญญาณชัดเจนให้กับบรรดาสถาบันการเงินจีน เพื่อดำเนินการเพิ่มเติมในการควบคุมบริหารความเสี่ยง

เขากล่าวว่า "สำหรับผมแล้ว เจ้าหน้าที่ภาครัฐสามารถบริหารจัดการสถานการณ์ได้ดี"

มาตรการลดความเสี่ยง โดยปราศจากสิ่งกระตุ้นและการปฏิรูปโครงสร้าง เป็นหนึ่งในสามนโยบายหลักสำคัญของนโยบาย "หลี่โคโนมิกส์" (Likonomics) ซึ่งเป็นคำที่นายหวง ยี่ปิง หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ด้านตลาดเกิดใหม่ในเอเชียของบาร์เคลย์ส ตั้งขึ้น เพื่อกล่าวถึงนโยบายเศรษฐกิจที่นายกฯหลี่ได้กำหนดขึ้นเมื่อเดือนมี.ค.

เขาชี้ว่าภายใต้นโยบายหลี่โคโนมิกส์ การเติบโตทางเศรษฐกิจจีนอาจจะประสบกับภาวะชะลอตัวในไม่กี่ปีข้างหน้า ซึ่งดูมีแนวโน้มว่าจะมีการขยายตัวภายในกรอบ 6-8%

"เหตุการณ์ดังกล่าวยังสอดคล้องกับมุมมองของผมในเรื่องสภาวะเศรษฐกิจโลกอีกด้วย" เขากล่าว "เรากำลังก้าวสู่ยุคการชะลอตัวทางโครงสร้างของเศรษฐกิจโลก ซึ่งถือว่า หนักหน่วงกว่าช่วงก่อนที่จะเกิดวิกฤติเศรษฐกิจโลกเมื่อปี 2551"

ซีอีโอของบาร์เคลย์สยังได้แย้มถึงความคาดหวังขององค์กรในการทำงานร่วมกับกลุ่มลูกค้าในจีนว่า

"บาร์เคลย์สมีศักยภาพระดับโลกเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าชาวจีน และนอกจากนี้เรายังรู้สึกตื่นเต้นเป็นอย่างยิ่งเกี่ยวกับโอกาสทางธุรกิจในทวีปแอฟริกา"

เขากล่าวว่า แอฟริกายังคงมีความสำคัญสำหรับการลงทุนอย่างมากในด้านโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะพลังงาน น้ำประปาและระบบขนส่ง

จีนได้กลายมาเป็นผู้บุกเบิกการลงทุนในแอฟริกาในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ซึ่งทำให้บริษัทจีนได้ขยายตัวจนมีบทบาทสำคัญในทวีปนี้

เขากล่าวว่า "ผมเชื่อว่าเราสามารถให้ความช่วยเหลือแก่ลูกค้าชาวจีนได้"

บ่อยครั้งที่ซีอีโอคนใหม่นี้ได้เอ่ยคำว่า "ปฏิรูป" เพื่อเป็นแนวทางดำเนินงานของบาร์เคลย์สเอง

ซึ่งเขาได้นำมาใช้เป็นส่วนประกอบของแผนปฏิรูปสามประการ ได้แก่ ผลตอบแทน อัตราผลตอบแทนที่สามารถยอมรับได้ และรักษาแรงกระตุ้นเพื่ออนาคต

เขาคาดว่าแผนงานดังกล่าวจะช่วยสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้กับบาร์เคลย์ส ภายหลังควันหลงจากวิกฤติการเงิน

โดย จิ้น หมิงหมิง สำนักข่าวซินหัวรายงาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ