ส่วนการระบายข้าวเปลือกนั้นจะเปิดประมูลเช่นกันเพื่อให้นำไปทำข้าวนึ่งส่งออก โดยผู้ส่งออกที่จะเข้าร่วมประมูลต้องมีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศมายืนยัน เพื่อจะได้แน่ใจว่าเมื่อได้ข้าวไปแล้วจะมีการส่งออกจริง ซึ่งเป็นการป้องกันปัญหาและข้อครหาเรื่องการเวียนเทียนข้าวเหมือนที่ผ่านมา
รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ กล่าวว่า สาเหตุที่ต้องเปิดประมูลข้าวเปลือกเพื่อทำข้าวนึ่งส่งออก เนื่องจากปีที่ผ่านมาไทยเสียตลาดข้าวนึ่งไปให้กับประเทศคู่แข่ง เพราะขายราคาต่ำกว่ามาก ดังนั้นในปีนี้ไทยจึงต้องเร่งดึงส่วนแบ่งตลาดนี้กลับคืนมาให้ได้ ซึ่งปกติแล้วไทยส่งออกข้าวนึ่งไปแอฟริกาปีละประมาณ 4 ล้านตันข้าวสาร หรือราว 7-8 ล้านตันข้าวเปลือก
"แผนบริหารจัดการข้าวนั้น ต้องโปร่งใส เปิดเผย ป้องกันการทุจริตในทุกขั้นตอน โดยต่อไปจะมีการเช็คปริมาณสต็อก สินค้าคงคลังด้วยระบบออนไลน์ที่จะต้องรู้ปริมาณสต็อกทุกวัน โดยขณะนี้กระทรวงพาณิชย์ได้หารือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เพื่อจัดทำระบบออนไลน์ในการเช็กสต็อกข้าวทุกเมล็ดอยู่แล้ว" นายนิวัฒน์ธำรง กล่าว
ด้านนายยรรยง พวงราช รมช.พาณิชย์ กล่าวว่า การรับจำนำข้าวนาปรังในรอบนี้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.-15 ก.ย.สำหรับภาคกลาง และภาคใต้จะสิ้นสุดวันที่ 30 พ.ย.นั้น จะยกเลิกการให้เพิ่มปริมาณได้อีก 20% จากปริมาณที่ชาวนาแจ้งขึ้นทะเบียนไว้เหมือนโครงการก่อนๆ ที่ทำมา เนื่องจากพบว่าเป็นช่องทางที่ทำให้อาจมีการทุจริตเกิดขึ้นได้
"เมื่อก่อน รัฐบาลจะให้หลักการไว้ว่าเกษตรกรแจ้งปริมาณไว้เท่าไร ก็จะบวกให้ 20% เพื่อให้นำข้าวมาเข้าร่วมโครงการได้ แต่สมาคมโรงสีเห็นว่าการให้ 20% นี้เป็นช่องโหว่ อาจมีการทุจริตได้ก็เลยให้ตัดออก เหลือแค่ว่าให้รับจำนำเท่าปริมาณที่แจ้งไว้ไว้เท่านั้น เมื่อนำมาจำนำแล้ว ก็จะมีการสลักหลัง เซ็นกำกับว่าจำนำครบแล้วตามปริมาณที่แจ้งไว้ เพราะรัฐบาลต้องการคุมปริมาณให้อยู่ในกรอบ 2.69 ล้านตันที่แจ้งไว้" นายยรรยงกล่าว