ทั้งนี้ ในปัจจุบันอัตราเงินเฟ้อมีสัญญาณปรับตัวลดลง โดยอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน(Core CPI) ลดลงจากจากต้นปีที่ 1.2% มาอยู่ที่ 0.88% ซึ่งเข้าใกล้เป้าหมายเงินเฟ้อในกรอบล่างของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ที่ระดับ 0.5% ซึ่งอัตราเงินเฟ้อในระดับดังกล่าว หากมองในแง่การบริหารจัดการราคาสินค้าจะถือว่ากระทรวงพาณิชย์ประสบความสำเร็จที่สามารถดูแลราคาสินค้าไม่ให้สูงขึ้น แต่ในเชิงเศรษฐกิจกลับสะท้อนให้เห็นว่ากำลังซื้อเริ่มซึมตัวลง ทำให้สัญญาณเงินเฟ้อปรับตัวลดลงต่อเนื่อง เกิดภาวะเงินฝืดในเงินเฟ้อ หรือเงินเฟ้อลดลงเรื่อยๆ ซึ่งสัญญาณนี้จะยังต่อเนื่องไปจนถึงไตรมาส 3
ดังนั้นในภาวะเช่นนี้ รัฐบาลควรใช้มาตรการทางการคลังเพื่อช่วยกระตุ้นกำลังซื้อหรือการบริโภคในประเทศให้กลับมา เพราะการจะคาดหวังให้ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ปรับลดดอกเบี้ยคงจะเป็นการยาก เพราะล่าสุด ธปท.ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงไปแล้ว 0.25% และไม่ได้รับการตอบสนองจากธนาคารพาณิชย์ในการปรับลดดอกเบี้ยลงตาม ดังนั้นการใช้นโยบายการเงิน คงไม่น่าจะทำได้ง่ายในการจะนำมาใช้เพื่อการกระตุ้นกำลังซื้อและกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ
"นโยบายการเงินคงไม่น่าจะทำได้ง่าย ในขณะที่การเตรียมเงินเพื่อการลงทุนในอนาคตของธนาคารพาณิชย์ยังมีความจำเป็น และไม่กล้าลดดอกเบี้ย เพราะต้องการจะระดมเงินฝาก ดังนั้นจึงเห็นว่าการจะกระตุ้นเศรษฐกิจโดยใช้นโยบายการเงินคงทำไม่ได้ จึงต้องมีนโยบายการคลังของรัฐบาลเข้ามากระตุ้น" นายธนวรรธน์ กล่าว
พร้อมมองว่า ขณะนี้ประชาชนเริ่มประสบกับภาวะที่เงินตึงตัว และเริ่มมีการก่อหนี้นอกระบบ ดังนั้นสิ่งที่น่ากังวล คือ ถ้าสัญญาณเศรษฐกิจโลกแย่ลง และทำให้นักลงทุนต่างชาติถอนการลงทุนออกจากตลาดหุ้นไทย และมีเงินไหลออก ก็จะทำให้ประชาชนมีเงินในกระเป๋าน้อยลง การจับจ่ายใช้สอยและเม็ดเงินจะฝืดเคือง โดยเฉพาะมนุษย์เงินเดือนและกลุ่มที่ทำงานรับจ้าง แต่ทั้งนี้ประเทศไทยคงไม่ถึงขั้นตกอยู่ในภาวะเงินฝืด เพราะเชื่อว่าธปท.จะต้องเห็นสัญญาณล่วงหน้าจากเงินเฟ้อพื้นฐานและต้องออกมาตรการเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจก่อนแล้ว
"อัตราเงินเฟ้อติดลบคงไม่เกิดขึ้นในประเทศไทย เพราะหากเงินเฟ้อพื้นฐานใกล้ระดับ 0 เชื่อว่า ธปท.คงจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปีนี้คาดเศรษฐกิจไทยโต 4-4.5% เงินเฟ้อไม่มีสัญญาณติดลบ ภาวะเงินฝืดคงไม่เกิด แต่จะเป็นภาวะเงินฝืดในเงินเฟ้อ หรือเงินเฟ้อลดลงเรื่อยๆ และเกิดภาวะเงินตึงตัว" นายธนวรรน์ กล่าว
ทั้งนี้ เห็นว่าเมื่อเม็ดเงินในมือประชาชนและภาคธุรกิจอาจหดหายไปตามสัญญาณเศรษฐกิจที่ตึงตัว และกลุ่มคนเหล่านี้เข้าถึงสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ได้ไม่ได้ง่ายนัก เพราะธนาคารพาณิชย์เองก็เริ่มเป็นห่วงปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL) ดังนั้นปัญหาเงินตึงตัวจะเกิดขึ้นเฉพาะในกลุ่มผู้มีรายได้น้อย และกลุ่มธุรกิจ SMEs ซึ่งอาจทำให้มีการเพิ่มปริมาณการก่อหนี้นอกระบบมากขึ้น ดังนั้นในช่วงเศรษฐกิจขาลงเช่นนี้จึงเห็นว่ารัฐบาลควรเปิดช่องให้ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(SMEs Bank) เข้ามาช่วยดูแลกลุ่มที่มีรายได้ไม่มาก เพราะไม่เช่นนั้นธุรกิจสินเชื่อนอกระบบจะกลับมามากขึ้น