นอกจากนี้ รัฐบาลไทยต้องส่งเสริมให้มีการจัดตั้งธนาคารของไทยเพื่อช่วยเหลือและส่งเสริมธุรกิจไทยอย่างแท้จริง เพราะปัจจุบันมีเพียงธุรกิจบริการและธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับการช่วยเหลือจากภาครัฐ ซึ่งอุตสาหกรรมเหล่านี้มีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะฟองสบู่สูง อีกทั้งการระดมทุนจากธนาคารพาณิชย์ในปัจจุบันของอุตสาหกรรมในภาคที่แท้จริงกลับมีน้อย เพราะธนาคารไม่สนับสนุนเงินทุนในภาคส่วนดังกล่าว โดยไทยมีเงินทุนสำรองต่างประเทศถึง 1.7-1.8 แสนล้านดอลลาร์ที่พร้อมสนับสนุนธุรกิจไทยได้อย่างเต็มศักยภาพ โดยไม่กระทบฐานะการเงินการคลังของประเทศ
ด้านนายบุญชัย เบญจรงคกุล ประธานกรรมการ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น(DTAC) กล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจในประเทศของไทยในขณะนี้ยังน่ากังวล เนื่องจากมาตรการรัฐไปฉุดศักยภาพการใช้จ่ายของประชาชนในประเทศให้ลดลง ทำให้ผู้ประกอบการต้องมองออกไปถึงโอกาสในการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) แต่เมื่อเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนแล้ว ไทยอาจกลายเป็นแหล่งลงทุนของธุรกิจต่างชาติ และดึงแรงงานที่มีศักยภาพของประเทศออกไป
"ผู้ประกอบการไทยไม่ควรออกไปหาช่องทางในการลงทุนในประเทศอื่นในกลุ่มอาเซียน แต่ให้เน้นลงทุนในประเทศไทย อย่าง ธุรกิจบริการ อาหาร พลังงาน ประกอบกับรัฐบาลต้องเตรียมนโยบายให้สอดรับกับภาคเอกชน และมีหน่วยงานที่ดูแลนโยบายระยะยาว เช่น สภาพัฒน์ ให้ดำเนินนโบายได้ต่อเนื่อง รวมทั้งภาคเอกชนควรดูศักยภาพและโอกาสของธุรกิจว่าจะเติบโตไปได้แค่ไหน และระดมทุนด้วยการกู้ยืมให้น้อยที่สุด เพื่อลดภาระในการบริหารจัดการธุรกิจในอนาคต" นายบุญชัย กล่าว
สำหรับโอกาสที่ประเทศไทยนั้นจะเกิดวิกฤตต้มยำกุ้งอาจเป็นไปได้ เนื่องจากปัญหาทางเศรษฐกิจยังคงมีอยู่บ้าง แต่ก็จะไม่รุนแรงเหมือนเหตุการณ์ต้มยำกุ้งที่ผ่านมา แต่ควรนำเหตุการณ์ดังกล่าวมาเป็นบทเรียน นอกจากนี้มองว่าอุตสาหกรรมการสื่อสารจะยังเติบโตอย่างต่อเนื่องจากนี้ไปในระยะยาว เนื่องจากปัจจุบันเป็นโลกของการสื่อสาร เทคโนโลยีต่างๆ มีการพัฒนาให้สอดคล้องกับการดำเนินชีวิต
ส่วนในกรณีที่เทเลนอร์กรุ๊ปได้ใบอนุญาตประกอบกิจการสื่อสารโทรคมนาคมในประเทศพม่านั้นจะไม่มีผลกระทบ หรือเกี่ยวข้องในเชิงลบกับ DTAC เนื่องจากกลุ่มเทเลนอร์ กรุ๊ป เพียงแค่จะขยายฐานในเอเชียเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น โดยปัจจุบันเทเลนอร์ กรุ๊ป เข้าไปทำกิจการสื่อสารโทรคมนาคมในภูมิภาคเอเชียกว่า 5 ประเทศ
ขณะที่นายสวัสดิ์ หอรุ่งเรือง ประธานกรรมการบริหาร บมจ.เหมราช พัฒนาที่ดิน(HEMRAJ) กล่าวว่า ข้อจำกัดในด้านการเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากสถาบันการเงินในประเทศของผู้ประกอบการไทยเป็นปัญหาที่สำคัญหลังจากวิกฤตปี 40 เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทยนอกเหนือจากแบงก์รัฐ มีผู้ถือหุ้นรายใหญ่เป็นชาวต่างชาติ ซึ่งพิจารณาให้สินเชื่อในบางอุตสาหกรรมในประเภทเท่านั้น จึงอยากให้ภาครัฐส่งเสริมการจัดตั้งธนาคารของประเทศขึ้นมาดูแลอุตสาหกรรมที่สนับสนุนอุตสาหกรรมในภาคที่แท้จริงให้ตั้งตัวและเติบโตได้
นอกจากนี้ยังต้องลงทุนเพื่อลดต้นทุนโลจิสติกส์ให้ถูกลงกว่าปัจจุบันด้วย โดยไม่ต้องกังวลว่าจะเป็นการอุดหนุนอุตสาหกรรมในประเทศมากเกินไป เพราะประเทศใหญ่ๆทั่วโลกก็มีการอุดหนุนภาคในประเทศของตนเช่นกัน พร้อมกันนี้ยังแนะนำผู้ประกอบการไทยให้บริหารงานแบบค่อยเป็นค่อยไปในภาวะที่เศรษฐกิจทั่วโลกยังผันผวน และมองหาโอกาสทั้งในและต่างชาติในการลงทุนหรือขยายกิจการ โดยอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการผลิตจะได้รับผลกระทบมากที่สุดเมื่อเปิด AEC เพราะต้องแบกรับต้นทุนที่ผันผวนภายใต้การแข่งขันในภาวะที่กำแพงภาษีทลายลงแล้ว
นายสวัสดิ์ เชื่อว่า ภาวะเศรษฐกิจของไทยในอนาคตจะเกิดภาวะฟองสบู่อย่างแน่นอน แต่จะไม่หนักเหมือนสมัยที่ประสบปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งเมื่อปี 40 เนื่องจากธนาคารไม่ได้ปล่อยกู้มานานถึง 16 ปี โดยปัจจุบันรูปแบบของธนาคารได้เปลี่ยนไป ซึ่งเน้นการบริการ อย่างการโอนเงิน ทำให้กำไรของธนาคารจึงมาจากสิ่งเหล่านี้เป็นหลัก รวมถึงได้กำไรจากดอกเบี้ยเครดิตการ์ด จึงมองว่าผู้ประกอบการรุ่นใหม่สมัยนี้ จะไม่ประสบปัญหาเหมือนสมัยก่อนที่มีวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง แต่ขณะเดียวกันก็มองว่าจะเกิดภาวะฟองสบู่ในภาครัฐมากกว่า ภาคเอกชน เนื่องจากภาครัฐก็มีการลงทุนโครงการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท ซึ่งล้วนเป็นการกู้เงินในจำนวนมหาศาลและเป็นการก่อหนี้ให้ประเทศในระยะยาวถึง 50 ปี