(เพิ่มเติม) ศูนย์วิจัยกสิกรฯ ปรับลดคาดการณ์ GDP ไทยปีนี้เหลือโต 4% จากเดิม 4.8%

ข่าวเศรษฐกิจ Friday July 5, 2013 14:50 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(GDP)ของไทยในปีนี้เหลือเติบโต 4.0% หรือกรอบคาดการณ์ 3.8-4.3% จากเดิมเคยคาดไว้ในระดับ 4.8% หรือกรอบคาดการณ์ที่ 4.3-5.3% เนื่องจากความเสี่ยงทางเศรษฐกิจมีเพิ่มขึ้นจากครึ่งปีแรก กลจักรเศรษฐกิจที่สำคัญเริ่มสูญเสียแรงขับเคลื่อน ซึ่งอาจส่งผลให้เศรษฐกิจไตรมาส 2/56 ขยายตัว 2-3% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีโอกาสหดตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 2

แนวโน้มครึ่งปีหลัง การส่งออกยังเผชิญความไม่แน่นอน โดยเฉพาะหากเศรษฐกิจจีนชะลอตัวลง ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจจีนในปีนี้ลงเหลือ 7.4% อย่างไรก็ดี การเติบโตของการส่งออกในครึ่งปีหลังอาจสูงกว่าครึ่งปีแรก ส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานเปรียบเทียบที่ต่ำในปีก่อน ขณะที่การบริโภคและการลงทุนในประเทศยังประสบปัญหาการชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง

นายประสพสุข ดำรงชิตานนท์ ประธานกรรมการบริหาร บรษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า ตัวแปรหลักที่มีผลกระทบต่อการปรับประมาณการมาจากสัญญาณชะลอการเข้าซื้อพันธบัตรของธนาคารกลางสหรัฐฯ หลังจากภาวะเศรษฐกิจสหรัฐเริ่มส่งสัญญาณการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อ GDP ของไทยให้ลดลงประมาณ 0.1% ขณะเดียวกันการที่เศรษฐกิจจีนชะลอตัวจะส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทย และกดดันให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์โลกยังคงอ่อนตัวลง มีผลกระทบต่อ GDP ไทยให้ลดลงราว 0.2%

ส่วนปัจจัยในประเทศ การบริโภคที่ซบเซาลงหลังจากภาระหนี้ภาคครัวเรือนปรับตัวสูงขึ้น ประกอบกับ ราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกปรับตัวลดลง ส่งผลกระทบต่อ GDP ไทยให้ปรับลดลงราว 0.2% ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนชะลอตัวลงหลังจากเกิดความกังวลในความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจ ส่งผลกระทบต่อ GDP ไทยให้ลดลงราว 0.2% และปัจจัยสุดท้ายคือโครงการลงทุนภาครัฐที่มีความล่าช้าจากปัญหาต่างๆ ส่งผลกระทบต่อ GDP ไทยลดลงประมาณ 0.1%

ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงปรับลดประมาณการ GDP ปีนี้ลงมาอยู่ที่ 4.0% จาก 4.8%

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในปี 56 การบริโภคของภาคเอกชนจะขยายตัวลดลงเหลือ 2.6% จากเดิม 3.5% การลงทุนลดลงเหลือขยายตัว 3.3% จากเดิม 6.5% การส่งออกปรับลดลงเหลือขยายตัว 4.0% จากเดิม 7.0% การนำเข้าปรับลดลงเหลือขยายตัว 5.7% จากเดิม 8.5 % ดุลบัญชีเดินสะพัดปรับเป็นขาดดุล 0.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ จากเดิมขาดดุล 1.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับลดลงเหลือ 2.5% จากเดิม 2.6 %

ด้านอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก ได้แก่ เศรษฐกิจสหรัฐฯยังคงเป้าหมายเดิมที่ขยายตัว 1.9% เศรษฐกลุ่มยูโรโซนขยายตัวติดลบเพิ่มขึ้นเป็น 0.7% จากเดิมคาดติดลบ 0.4% เศรษฐกิจญี่ปุ่นขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 1.8% จากเดิม 1.5% และเศรษฐกิจจีนคาดว่าจะขยายตัวลดลงเหลือ 7.4% จากเดิม 7.9%

ขณะที่แนวโน้มของภาคธุรกิจช่วงครึ่งปีหลัง ธุรกิจที่ยังน่าจะเติบโตได้ดี คือ โทรคมนาคม ท่องเที่ยว สุขภาพ และพลังงานทดแทน ธุรกิจที่มีแนวโน้มทรงตัวใกล้เคียงกับครึ่งปีแรกคือ สินค้าเกษตรและอาหาร กลุ่มสินค้าส่งออก ธุรกิจขนส่งสินค้า ธุรกิจก่อสร้าง ส่วนธุรกิจที่อาจได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกและในประเทศ ได้แก่ สินค้าบริโภค ธุรกิจค้าปลีก รถยนต์ อสังหาริมทรัพย์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และอุปกรณ์สำนักงาน

ส่วนปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนที่สูงถึง 77.4% นั้นมองว่าปัจจุบันยังไม่ได้รับผลกระทบเรื่องหนี้เสีย(NPL)ที่มีนัยสำคัญ และยังไม่ได้เป็นผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม โดยมองว่าหนี้ภาคครัวเรือนที่ปรับตัวสูงขึ้นนั้นมาจากความเจริญที่กระจายไปสู่ภูมิภาคมากขึ้น โดยเฉพาะตามหัวเมืองใหญ่ๆ ส่งผลให้ประชาชนเริ่มมีรายได้ดีขึ้นและหันมากู้เงินในระบบมากขึ้น จากที่ก่อนหน้านี้มีการกู้นอกระบบเป็นจำนวนมาก รวมถึงปัจจุบันประชาชนมีความสามารถที่จะชำระหนี้ได้จากรายได้ที่มากกว่ารายจ่าย ประกอบกับ ปัจจุบันอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับที่ต่ำและยังมีแนวโน้มที่จะปรับตัวลดลงต่อ

อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามในระยะเวลา 1-2 ปีข้างหน้า หากภาวะเศรษฐกิจไทยเกิดปัญหา อาจจะส่งผลกระทบกับหนี้ NPL ได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ