Analysis: เศรษฐกิจโลกส่อแววฟื้น ฟื้นหนุนราคาน้ำมันใน H2/2556 หลังพุ่งเหนือ $100

ข่าวต่างประเทศ Friday July 5, 2013 15:23 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เนื่องด้วยความหวั่นวิตกเกี่ยวกับสถานการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองในตะวันออกกลาง และการคาดการณ์ดกี่ยวกับความไม่สมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทานในตลาดน้ำมัน จึงทำให้สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนส.ค.ที่ตลาดน้ำมันนิวยอร์ก ปรับเพิ่มขึ้น 1.64 ดอลลาร์/บาร์เรล หรือ 1.7% แตะระดับ 101.24 ดอลลาร์/บาร์เรล โดยนับเป็นระดับปิดสูงสุดนับแต่วันที่ 3 พ.ค.2555 และยังเป็นครั้งแรกที่ราคาพุ่งเหนือระดับ 100 ดอลลาร์อีกครั้งนับตั้งแต่นั้นมา

เหตุความวุ่นวายทางการเมืองในอียิปต์นั้นได้ส่งผลโดยตรงต่อราคาน้ำมันที่ทะลุหลัก 100 ดอลลาร์ แม้ว่าประเทศอียิปต์จะไม่ใช่ผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ แต่คลองสุเอซ ซึ่งเป็นช่องทางสำคัญในการขนส่งน้ำมันดิบออกจากตะวันออกกลาง ทำให้สถานการณ์ในอียิปต์มีความสำคัญต่อการคาดการณ์ระยะสั้นเกี่ยวกับราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ตลาดส่วนใหญ่กังวลเกี่ยวกับความยากลำบากในการขนส่งหรือแม้แต่การขนส่งที่หยุดชะงักลง หากสถานการณ์ในอียิปต์รุนแรงจนเกินจะควบคุมได้ บรรดานักเก็งกำไรในตลาดล่วงหน้าจึงมีแนวโน้มจะเสนอราคาที่สูงขึ้น จากการคาดการณ์เกี่ยวกับอุปทานที่ระดับต่ำ

ในขณะเดียวกัน สต็อกน้ำมันของสหรัฐก็ลดลงมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งส่งสัญญาณถึงอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นในสหรัฐ และยังมีส่วนทำให้ราคาน้ำมันทะยานขึ้นมาอยู่ที่กว่า 100 ดอลลาร์สหรัฐ

คาดว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจะมีความมั่นคงมากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง ขณะที่ประเทศเศรษฐกิจที่สำคัญๆ อย่างสหรัฐและกลุ่มประเทศในยุโรป มีข้อมูลทางเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น และกำลังก้าวพ้นจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่ได้ดำเนินมานับแต่ช่วงวิกฤติการเงินโลกในปี 2551

การฟื้นตัวในประเทศแกนนำเศรษฐกิจได้กลายเป็นแนวโน้มสำคัญที่ส่งผลต่อตลาดน้ำมันโลก และยังเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดทิศทางราคาน้ำมันในช่วงครึ่งหลังของปี 2556 ร่วมกับปัจจัยที่ส่งผลในทางตรงกันข้ามบางประการ เช่น อัตราการบริโภคพลังงานในจีนที่ชะลอตัวลง พลังงานทางเลือกที่มากขึ้น อย่างหินน้ำมัน รวมไปถึงความพยายามที่มากขึ้นของสหรัฐในการผลิตก๊าซและและน้ำมันภายในประเทศ เพื่อสร้างความสมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทาน ซึ่งคาดว่าจะทำให้ราคาน้ำมันดิบยังคงอยู่ที่ระดับสูงในช่วงครึ่งปีหลัง

-- การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก กับ อุปสงค์น้ำมันที่อ่อนแรงลงของจีน

โดยทั่วไป เป็นที่ยอมรับกันว่าเศรษฐกิจโลกกำลังอยู่ในระยะฟื้นตัว แต่ก็ยังมีข้อโต้แย้งอยู่บ้างในเด็นความยั่งยืนของการฟื้นตัว

สำนักงานสถิติแห่งสหภาพยุโรป หรือยูโรสแตทเผยว่า ยอดค้าปลีกเดือนพ.ค.ภายในกลุ่มประเทศยูโรโซนเพิ่มขึ้น 1% จากเดือนเม.ย. ซึ่งเป็นการขยายตัวมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนม.ค. ส่วนยอดค้าปลีกเมื่อเดือนพ.ค. ปรับตัวลดลงเพียง 0.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยเป็นการลดลงน้อยที่สุดเมื่อเทียบรายปี นับตั้งแต่เดือนมี.ค. 2555

กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่า ผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกในรอบสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 29 มิ.ย. ปรับตัวลดลง 5,000 รายจากสัปดาห์ก่อนหน้า มาอยู่ที่ 343,000 ราย ซึ่งดีกว่าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ 345,000 ราย ขณะที่ยอดสั่งซื้อใหม่ของโรงงานในสหรัฐ ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.1% ในเดือนพ.ค. มากกว่าที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดไว้ ซึ่งบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐกำลังปรับตัวดีขึ้น

นอกจากนี้ การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจยังสะท้อนออกมาทางอุปสงค์น้ำมันดิบ โดยสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐ (EIA) ระบุว่า สต็อกน้ำมันดิบลดลง 10.3 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 383.8 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่สิ้นสุด ณ วันที่ 28 มิ.ย. ซึ่งเป็นการร่วงลงมากที่สุดนับแต่สัปดาห์ที่สิ้นสุดในวันที่ 28 ธ.ค. และลดลงมากกว่าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ประเมินไว้ว่าจะลดลง 3 ล้านบาร์เรล ส่วนสต็อกน้ำมันเบนซินลดลง 1.7 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 223.7 ล้านบาร์เรล สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 1 ล้านบาร์เรล ขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 92.2% ซึ่งเพิ่มขึ้น 2% จากสัปดาห์ก่อนหน้า

อย่างไรก็ตาม สำนักงานพลังงานสากล (IEA) รายงานว่า อุปสงค์น้ำมันในจีนกำลังชะลอตัวลง อันเป็นผลจากความพยายามปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจของรัฐบาล, การประหยัดและการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อุปสงค์ของจีนกำลังมีสัดส่วนน้อยลงในการขยายตัวของอุปสงค์น้ำมันดิบทั่วโลก รายงานเมื่อเร็วๆนี้ของ IEA ระบุว่าปริมาณการบริโภคน้ำมันดิบในจีนน่าจะมีการขยายตัวประมาณ 3.8% ในปี 2556 ซึ่งน้อยลงกว่าที่คาดไว้ที่ 3.9% โดย IEA ระบุว่า "มีสัญญาณเพิ่มมากขึ้นว่าอัตราการบริโภคน้ำมันของจีน อาจจะชะลอลง เช่นเดียวกับภาวะเศรษฐกิจของจีน" สำนักข่าวซินหัวรายงาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ