ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ สำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค รายงานโดยรอยเตอร์/มหาวิทยาลัยมิชิแกน(เบื้องต้น)เดือนก.ค., ดัชนีราคาผู้ผลิต, งบประมาณของรัฐบาลกลางเดือนมิ.ย., สต็อกสินค้าภาคค้าส่งเดือนพ.ค., จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และบันทึกการประชุมเฟดเมื่อวันที่ 18-19 มิ.ย.ที่ผ่านมา นอกจากนี้ ตลาดการเงินไทยยังน่าจะจับตาผลการประชุมนโยบายการเงินของกนง.ในวันที่ 10 ก.ค.นี้อีกด้วย
อย่างไรก็ดี ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ เงินบาทกลับไปอ่อนค่ากว่าระดับ 31 บาทต่อดอลลาร์อีกครั้ง เงินบาทแข็งค่าขึ้นในช่วงต้นสัปดาห์สอดคล้องกับแรงซื้อสินทรัพย์เสี่ยงของนักลงทุนที่ได้รับปัจจัยบวกจากข้อมูล PMI ภาคการผลิตของหลายประเทศที่ทยอยปรับตัวดีขึ้น เงินบาทล้างช่วงบวกดังกล่าวลงในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ตามปัจจัยทางเทคนิค ประกอบกับตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ ที่ออกมาดี สนับสนุนการคาดการณ์การถอยออกจากมาตรการ QE ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ภายในสิ้นปี 2556 โดยเมื่อวันศุกร์(5 ก.ค.) เงินบาทอยู่ที่ระดับ 31.10 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ใกล้เคียงกับระดับ 30.97 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในวันศุกร์ก่อนหน้า(28 มิ.ย.)