(เพิ่มเติม) ม.หอการค้าไทย ปรับลดคาดการณ์ GDP ปี 56 เหลือโต 4.0-4.5%

ข่าวเศรษฐกิจ Monday July 8, 2013 13:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ (GDP) ไทย ในปี 56 ลงมาเหลือ 4.0-4.5% จากก่อนหน้าที่คาดว่าจะขยายตัวราว 4.8-5.2% เนื่องจากคาดว่าการส่งออกจะขยายตัวเพียง 3-5% จากคาดการณ์เดิมที่ 8.2% การนำเข้าคาดว่าจะขยายตัวลดเหลือ 7.1% จากเดิม 10%

ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั้งปีคาดว่าจะเฉลี่ยอยู่ที่ 2.3-2.7% จากเดิมที่ 3.5% ขณะที่ค่าเงินบาทเฉลี่ยปี 56 ประเมินไว้ที่ 30.30 บาท/ดอลลาร์ จากคาดการณ์เดิม 29.30 บาท/ดอลลาร์

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจฯ กล่าวว่า การปรับลดประมาณเศรษฐกิจไทยลงเหลือ 4.0-4.5% หรือเฉลี่ยอยู่ที่ 4.3% จากเดิมที่เคยคาดไว้ที่ 5% มีสาเหตุสำคัญจากปัจจัยในเรื่องของเม็ดเงินจากการส่งออกในปีนี้ที่คาดว่าจะหายไปราว 1.2 แสนล้านบาท รวมกับความล่าช้าของโครงการบริหารจัดการน้ำที่เดิมคาดว่าจะเริ่มมีเม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจในปีนี้ราว 6-7 หมื่นล้านบาท โดยเมื่อรวมกันแล้วจะทำให้เม็ดเงินหายไปจากระบบเศรษฐกิจในปีนี้เกือบ 2 แสนล้านบาท และส่งผลให้ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ ต้องปรับลด GDP ในปีนี้ลงอีก 0.7% มาเหลือเพียง 4.3%

อย่างไรก็ดี การคาดการณ์ดังกล่าวมาจากสมมติฐานว่าเศรษฐกิจไทยจะเริ่มฟื้นตัวได้ราวไตรมาส 4/56 ในขณะที่เศรษฐกิจโลกจะไม่ทรุดตัวไปมากกว่านี้ และเศรษฐกิจจีนยังสามารถขยายตัวได้ในระดับ 7.0-7.5%

นายธนวรรธน์ แสดงความเป็นห่วงต่อภาวะเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาส 3/56 หลังจากมีข่าวว่ากองทุนการเงินระหว่างประเทศ(IMF) อาจจะพิจารณาปรับแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในเอเชีย ซึ่งไม่แน่ใจว่า IMF จะมองถึงความเปราะบางของเศรษฐกิจในกลุ่มเอเชียมากน้อยเพียงใด ในขณะที่เศรษฐกิจจีนเองก็มีความเสี่ยงมากขึ้น

“เรามองเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3 ด้วยความไม่สบายใจ ห่วงที่ IMF จะปรับเศรษฐกิจประเทศในเอเชีย เราไม่แน่ใจว่า IMF มองว่าเปราะบางมากขึ้นแค่ไหน เพราะเศรษฐกิจจีนก็สุ่มเสี่ยงมากขึ้น" นายธนวรรธน์ กล่าว

พร้อมระบุว่า เศรษฐกิจโลกกำลังจะถึงจุดต่ำสุดในไตรมาส 3/56 และน่าจะเริ่มฟื้นตัวขึ้นในไตรมาส 4/56 แต่ก็ยังมีความเสี่ยงจากเศรษฐกิจของจีนและยุโรปเป็นสำคัญ ขณะที่เศรษฐกิจไทยเองก็คาดว่าจะถึงจุดต่ำสุดในไตรมาส 3/56 โดยคาดว่า GDP จะเติบโตราว 3.6% และจะเริ่มฟื้นตัวขึ้นตามเศรษฐกิจโลกในไตรมาส 4/56 มาที่ระดับ 4.5%

ทั้งนี้ มองว่าการใช้จ่ายของภาครัฐจะเป็นส่วนสำคัญในการช่วยพยุงเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาส 3/56 ไม่ว่าจะเป็นเม็ดเงินที่ได้จากการเร่งระบายข้าวในสต็อก ตลอดจนการตรึงราคาพลังงาน ในขณะที่ยังไม่มีความเสี่ยงเรื่องการเมืองภายในประเทศในช่วงระยะเวลาดังกล่าวมากนัก

“เรามองเศรษฐกิจโลกเป็นความผันผวน และเศรษฐกิจไทยที่ย่อตัวลงในไตรมาสที่ 1-2 สาเหตุสำคัญมากจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกที่ดึงให้บาทแข็ง เงินไหลเข้ามามากกว่าปกติ ขณะเดียวกันเศรษฐกิจโลกที่ซึมตัวลงกดดันราคาพืชผลเกษตร สินค้าอุตสาหกรรมลดลงหมด ดังนั้นความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยขึ้นกับความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกเป็นสำคัญ เรายังไม่สามารถพึ่งพาเศรษฐกิจภายในได้ 100%" นายธนวรรรธน์ กล่าว

ความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยขณะนี้คือปัญหาหนี้ครัวเรือนที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น สัญญาณของการลงทุนที่ยังไม่มีเม็ดเงินใหม่เข้ามา ซึ่งหากโครงการลงทุนที่สำคัญของภาครัฐต้องชะลอหรือมีปัญหาไม่ว่าจะเป็นโครงการบริหารจัดการน้ำ มูลค่า 3.5 แสนล้านล้านบาท และการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ วงเงิน 2 ล้านล้านบาท ก็จะเป็นความเสี่ยงต่อระบบเศรษฐกิจไทยเพิ่มขึ้น

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจฯ คาดการณ์ว่า GDP ในปีนี้จะลดลงมาอยู่ที่ 4.3% หรืออยู่ในกรอบ 4.0-4.5% โดยการส่งออกทั้งปีคาดว่าจะโต 4.1% การนำเข้าโต 7.1% ส่งผลให้ทั้งปี 56 คาดว่าไทยจะเกินดุลการค้า 2.1 พันล้านดอลลาร์ โดยปัจจัยหนุนของภาคการส่งออกมาจากการฟื้นตัวอย่างเต็มที่ของภาคอุตสาหกรรม แต่ยังมีปัจจัยบั่นทอนสำคัญ คือ สถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ยังคงผันผวนอยู่มาก, ความผันผวนของเงินบาท และการแข่งขันด้านการส่งออกที่รุนแรงมากขึ้น

พร้อมทั้งมองว่าภาคการท่องเที่ยวจะเป็นตัวหลักในการสร้างรายได้เข้าประเทศของไทยในปีนี้ เนื่องจากนักท่องเที่ยวมีความเชื่อมั่นในมาตรการด้านความปลอดภัยให้แก่นักท่องเที่ยวที่จะเดินทางมาประเทศไทย ประกอบกับภาครัฐและภาคเอกชนต่างมีมาตรการส่งเสริมและกระตุ้นการท่องเที่ยว และเงินบาทเริ่มปรับตัวอ่อนค่าลงในช่วงครึ่งปีหลัง โดยคาดว่าทั้งปี 56 จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศไทยถึง 25.1 ล้านคน เพิ่มขึ้น 12.5% และมีรายได้จากการท่องเที่ยวราว 1.1 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 14.3% ซึ่งถือเป็นรายได้จากการท่องเที่ยวที่เกิน 1 ล้านล้านบาทติดต่อกันเป็นปีที่ 2

ปัจจัยบวกที่สำคัญต่อเศรษฐกิจไทยปีนี้ ประกอบด้วย เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยเฉพาะสหรัฐฯ และญี่ปุ่นที่ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีความชัดเจนมากขึ้น, เศรษฐกิจเอเชียยังขยายตัวในระดับสูง, ธปท.ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายมาอยู่ที่ 2.50% เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และลดความกดดันด้นอัตราแลกเปลี่ยนจากการไหลเข้าของเงินตราต่างประเทศ, ภาครัฐยังมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่สำคัญด้วยโครงการขนาดใหญ่ เช่น โครงการบริหารจัดการน้ำ และการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ, นโยบายเพิ่มรายได้และลดค่าครองชีพให้ประชาชน เช่น ปรับขึ้นค่าแรงเป็น 300 บาท, เงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาท และโครงการรับจำนำข้าว รวมทั้งการเมืองในประเทศมีเสถียรภาพมากขึ้น

อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยลบที่สำคัญต่อเศรษฐกิจไทย คือ ความไม่แน่นอนในการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกยังมีอยู่สูง, ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน และการไหลเข้าของเงินทุนต่างประเทศ, เสถียรภาพทางการเมืองไทยและการเมืองโลก, การขาดแคลนแรงงานในบางอุตสาหกรรม และโครงการลงทุนในด้านต่างๆ ของภาครัฐที่ยังติดปัญหาด้านข้อกฎหมาย ส่งผลให้เม็ดเงินไหลเข้าสู่ระบบได้ล่าช้า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ