"ที่ผ่านมาเราล้มเหลวกับการให้บริการของแอร์พอร์ตลิงค์ เพราะไม่มีการออกแบบรูปแบบการบริการให้กับประชาชนผู้ใช้บริการก่อนที่จะมีการก่อสร้าง ทำให้เกิดปัญหาด้านบริการมากมาย เช่น ไม่มีทางเชื่อมต่อออกจากสถานีไปยังระบบขนส่งอื่นๆ ดังนั้น ต่อไปนี้เราจำเป็น ต้องคิดรูปแบบการให้บริการบริเวณสถานีให้ตอบโจทย์ความต้องการผู้ใช้บริการก่อน" นายชัชชาติ กล่าว
ด้านนายพันศักดิ์ วิญญรัตน์ ประธานที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลจะนำระบบการให้บริการที่มีประสิทธิภาพเข้ามาแก้ไขความล้มเหลวของระบบรางของไทย โดยในอนาคตจะต้องทำให้การบริการกลายมาเป็นทรัพย์สิน รถไฟไทยจะต้องเปลี่ยนจากองค์กรที่ขาดทุนมาเป็นองค์กรที่มีกำไร
"ปัจจุบันการบินไทยมีหนี้มากกว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยอยู่มาก แต่เนื่องจากการบินไทยมีชื่อเสียงด้านการให้บริการที่ดีมาก โดยเฉพาะในตลาดเอเชีย จึงทำให้ยังมีลูกค้าเข้ามาใช้บริการอย่างต่อเนื่องจำนวนมาก ชี้ให้เห็นว่าการบริการที่มีประสิทธิภาพเป็นส่วนสำคัญที่สุดที่จะช่วยเพิ่มรายได้ให้องค์กร" นายพันศักดิ์ กล่าว
ขณะที่นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการ สนข.กล่าวว่า การทำเซอร์วิสดีไซน์จะช่วยสร้างรายได้เพิ่มเชิงพาณิชย์ให้กับระบบขนส่งทางรางของไทยอีก 15% นอกเหนือไปจากรายได้จากการขายตั๋วโดยสาร ซึ่งทำให้การให้บริการสาธารณะในระบบรางหลุดพ้นจากปัญหาการขาดทุนจากการเดินรถ และยังช่วยลดภาระงบประมาณด้วย คาดว่าภายใน ส.ค.นี้ TCDC จะส่งข้อมูลเซอร์วิสดีไซน์เบื้องต้นมายัง สนข.
สำหรับความคืบหน้าในการศึกษาค่าโดยสารรถไฟความเร็วสูงนั้น เบื้องต้น สนข.อาจจะมีการทบทวนใหม่ โดยอาจจะมีการปรับลงมาอยู่ที่กิโลเมตรละ 2.20 บาท จากเดิมกิโลเมตรละ 2.50 บาท โดยขณะนี้อยู่ระหว่างหาข้อสรุป นอกจากนี้ยังเตรียมหารือร่วมกับกรมโยธาธิการและผังเมือง เพื่อวางแผนการพัฒนาเมืองใหม่บริเวณรอบๆ สถานีรถไฟฟ้าความเร็วสูง ระยะรัศมี 3 กิโลเมตรทั่วประเทศ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาคด้วย