อย่างไรก็ตาม คาดว่า กนง.อาจจะไปพิจารณาลดดอกเบี้ยในครั้งต่อไปภายในไตรมาส 3 นี้ จากความเสี่ยงในด้านต่าง ๆ ของเศรษฐกิจ
"ผมคิดว่ากนง.คงจะตัดสินใจคงดอกเบี้ยในการประชุมครั้งนี้ เนื่องจากเฟดมีสัญญาณชะลอ QE ลงและการลดดอกเบี้ยในครั้งที่แล้วแบงก์พาณิชย์ยังไม่ตอบสนองเท่าที่ควร และยังมีการระดมเงินฝากอยู่ แสดงว่าสินเชื่อยังมีการปล่อยได้ดี ดังนั้น กนง.อาจจะยังไม่จำเป็นต้องลดดอกเบี้ยในครั้งนี้ แต่คงจะรอดูสถานการณ์อีกครั้ง และอยู่ระหว่างประเมินว่าผลจากการลดดอกเบี้ยในครั้งที่แล้วจะช่วยเศรษฐกิจอย่างไรมากน้อยแค่ไหน...คาดว่าน่าจะลดภายในไตรมาส 3 นี้"นายธนวรรธน์ กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"
นายธนวรรธน์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ระดับ 0.88% ใกล้เป้าหมายระดับล่างคือ 0.5% เพราะฉะนั้น จึงเป็นช่วงที่ กนง.จำเป็นจะต้องติดตามเศรษฐกิจและพิจารณาลดดอกเบี้ยในระยะเวลาอันใกล้ ซึ่งอาจจะเป็นภายในไตรมาส 3/56 เนื่องจากภาพรวมเศรษฐกิจยังไม่ชัดเจนเท่าที่ควร และยังต้องติดตามว่า พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาทจะมีความเสี่ยงที่จะสะดุดเหมือนโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาทหรือไม่
"ต้องตามสัญญาณเศรษฐกิจโลกว่าชะลอตัวลงต่อเนื่องมั้ย รวมทั้งเศรษฐกิจจีนซึ่งยังเป็นอะไรที่ไม่แน่นอน ขณะที่สหรัฐเองก็มีท่าทีไม่ชัดเจนว่าถ้าชะลอมาตรการ QE จะชะลอเมื่อไหร่ และจะมีผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหรือไม่ ขณะเดียวกันฝั่งยุโรป ยังเป็นทาง 2 แพร่ง โดยเฉพาะประเทศที่เคยมีปัญหา เช่น โปรตุเกส กรีซ ยังต้องติดตามว่ายังมีความเสี่ยงทางด้านเศรษฐกิจอยู่หรือไม่"นายธนวรรธน์ กล่าว
ขณะที่นายอนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต คาดว่าที่ประชุม กนง.ในวันที่ 10 ก.ค.นี้จะมีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.50% ต่อปีตามเดิม เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจยังมีสัญญาณชะลอตัว อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ แต่อาจมีการปรับอัตราดอกเบี้ยในช่วงไตรมาส 4/56
"ดูแล้วก็คงจะไม่ลด ถึงแม้เศรษฐกิจจะชะลอตัวแต่ไม่มาก ขณะเดียวกันมีเงินทุนไหลออก การคงอัตราดอกเบี้ยไว้น่าจะเหมาะสมที่สุด รอดูสถานการณ์เศรษฐกิจไปอีกสักระยะแล้วค่อยมาดูว่าสมควรจะปรับนโยบายดอกเบี้ยหรือไม่ เพราะเราใช้นโยบาย inflation targeting" นายอนุสรณ์ กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"
เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจในขณะนี้มีสัญญาณชะลอตัวลงค่อนข้างชัดเจน อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ และโอกาสที่จะปรับตัวเกินกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อด้านบนแทบจะไม่มีเลย ซึ่งตรงนี้เป็นเหตุผลว่าไม่มีความจำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแน่นอน
ส่วนทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงครึ่งปีหลังนั้นขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจ หากเศรษฐกิจชะลอตัวลงไปมากกว่านี้ อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับที่ต่ำมากๆ ก็มีแนวโน้มที่จะปรับอัตราดอกเบี้ยลงเพื่อดูแลระบบเศรษฐกิจไม่ให้ชะลอตัวมากเกินไป ขณะเดียวกันก็ต้องนำปัจจัยเรื่องสภาพคล่องในระบบมาพิจารณาประกอบด้วย
"(ถ้าจะมีการปรับดอกเบี้ย)น่าจะเป็นไตรมาส 4 เลย เพราะในไตรมาส 3 คงจะตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ก่อน"นายอนุสรณ์ กล่าว
ด้านนายมนตรี โสคดิยานุรักษ์ ผู้อำนวยการหลักสูตร MPA ภาคพิเศษ กรุงเทพฯ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า) คาดว่า กนง.จะคงอัตราดอกเบี้ยในระดับนี้ต่อไปอีกสักระยะ เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อยังไม่สูงมาก เศรษฐกิจชะลอตัวเล็กน้อย การปรับลดอัตราดอกเบี้ยคงจะไม่ดำเนินการในขณะนี้ เพราะมีปัจจัยเรื่องการเคลื่อนย้ายเงินทุนที่ทำให้อัตราแลกเปลี่ยนยังมีความผันผวน หลังมีข่าวสหรัฐจะชะลอมาตรการ QE
"วันที่ 10 กรกฎาคมนี้เชื่อว่าแบงก์ชาติจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้แล้วเฝ้าดูอีกสักระยะเพื่อความชัดเจน เพราะแบงก์ชาติของไทยใช้วิธีการค่อนข้างจะเป็น conservative...การปรับขึ้นคงไม่มีแน่นอน ส่วนการปรับลงก็ยังไม่มีเหตุผลที่เพียงพอ"นายมนตรี กล่าว
นายมนตรี กล่าวว่า ครึ่งปีหลังมีความเป็นไปได้ที่จะมีการพิจารณาเรื่องอัตราดอกเบี้ยอีกครั้ง หากภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐกลับมาฟื้นตัวจะช่วยให้เศรษฐกิจโลกกลับมาฟื้นตัวขึ้นด้วย ประกอบกับเป็นช่วงต้นปีงบ 57 ที่จะมีการเบิกจ่ายงบลงทุน ตลอดจนโครงการลงทุน 2 ล้านล้านบาท และโครงการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ 3.5 แสนล้านบาท
"ประมาณเดือนกันยาฯ-ตุลาฯ อาจจะมีการตัดสินใจกันอีกครั้ง ถ้ามันดีก็คงต้องปรับขึ้นเพื่อชะลอภาคธุรกิจ เพราะภาครัฐลงทุนเยอะ ก็จะถ่วงดุลด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย อาจได้เห็นในช่วงไตรมาสสุดท้ายปลายปีนี้" นายมนตรี กล่าว