กสิกรฯ คาดกนง.ตรึงดบ. 2.50% แม้ศก.ส่งสัญญาณชะลอตัว มองนโยบายการเงินต้องใช้เวลา

ข่าวเศรษฐกิจ Monday July 8, 2013 17:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) วันที่ 10 ก.ค.56 น่าจะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.50% หลังจากที่ได้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ในการประชุมครั้งก่อนหน้า ถึงแม้ว่าพัฒนาการของเศรษฐกิจไทยในระยะที่ผ่านมาเริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวลงก็ตาม ทั้งนี้ เนื่องจากระดับอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันยังถือว่าเป็นระดับที่ผ่อนคลายเพียงพอที่จะสนับสนุนการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพในระยะยาว

ทั้งนี้ ในช่วงระยะที่ผ่านมา พัฒนาการของเศรษฐกิจไทยเริ่มมีสัญญาณการขยายตัวที่อ่อนแรงลง อันเป็นผลจากการชะลอตัวของการใช้จ่ายของภาคเอกชนภายในประเทศ หลังจากที่ปรับตัวเร่งขึ้นมากในปีก่อนหน้า ประกอบกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังคงไม่แน่นอน และแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนที่แผ่วลง อันส่งผลต่อการส่งออกของไทย

ความเสี่ยงดังกล่าว ได้ถูกรับรู้ รับมือ และบริหารจัดการไปในระดับหนึ่งแล้ว ผ่านการใช้นโยบายการเงินที่อยู่ในระดับที่ผ่อนคลายค่อนข้างมาก อันจะเห็นได้จากอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงของไทยที่อยู่ในแดนลบอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งในการประชุมครั้งที่ผ่านมา กนง.ได้มีมติลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ไปแล้ว ขณะที่ต้องยอมรับว่าการใช้นโยบายการเงินผ่านทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายคงจำเป็นต้องอาศัยเวลาสักระยะหนึ่ง จึงจะส่งผ่านผลกระทบไปยังภาคเศรษฐกิจจริง

"ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงประเมินว่า กนง.น่าจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 2.50% ในการประชุมวันที่ 10 ก.ค.56 และกนง. คงจะติดตามพัฒนาการของเศรษฐกิจไทยในระยะถัดไปอย่างใกล้ชิด เพื่อใช้ชั่งน้ำหนักในการตัดสินใจเชิงนโยบาย ให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจอย่างแท้จริง" เอกสารเผยแพร่ระบุ

อย่างไรก็ดี เมื่อมองไปข้างหน้าแล้วต้องยอมรับว่า การตัดสินใจทิศทางนโยบายการเงินของ กนง.เผชิญข้อจำกัดมากขึ้น โดยแม้ว่าอัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับต่ำและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานใกล้เคียงกับกรอบล่างของอัตราเงินเฟ้อเป้าหมาย แต่การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม ท่ามกลางภาวะที่ราคาสินทรัพย์และหนี้ภาคครัวเรือนปรับตัวเร่งสูงขึ้น อาจนำไปสู่ความเสี่ยงต่อเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจในระยะยาว

นอกจากนี้ การส่งสัญญาณของเฟดเกี่ยวกับการปรับลดขนาดการซื้อสินทรัพย์ตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (Quantitative Easing หรือ QE) อันส่งผลให้ตลาดการเงินทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยเกิดความผันผวน และต้องเผชิญกับกระแสเงินทุนไหลออกและค่าเงินที่อ่อนค่าลงอย่างรวดเร็วนั้น ก็คงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่จำกัดประสิทธิผลของนโยบายการเงินในอนาคตข้างหน้า

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าด้วยพื้นฐานทางเศรษฐกิจไทยที่ค่อนข้างแข็งแกร่งและมีเสถียรภาพ อัตราการว่างงาน และอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ ทุนสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับสูง รวมถึงแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐที่อยู่ระหว่างดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมาย จะมีส่วนให้เศรษฐกิจไทยสามารถปรับตัวท่ามกลางความผันผวนของสภาวะเศรษฐกิจและการเงินที่อาจจะเกิดขึ้นต่อไปได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเศรษฐกิจสหรัฐฯ และเศรษฐกิจญี่ปุ่นขยายตัวอย่างแข็งแกร่งในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ตามสัญญาณการฟื้นตัวที่ทยอยชัดเจนขึ้น ซึ่งคงส่งผลให้เศรษฐกิจไทยสามารถรักษาระดับการเติบโตได้อย่างต่อเนื่องในระยะถัดไป

นอกจากนี้ ธปท.ก็ยังมีเครื่องมือในตลาดเงินในการช่วยลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น รวมทั้งดูแลความผันผวนของตลาดการเงินให้อยู่ในระดับที่ไม่ส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจมากนัก ซึ่งถือเป็นกลไกสำคัญในการรับมือกับความเสี่ยงต่างๆ โดยเฉพาะจากกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายตามพัฒนาการเศรษฐกิจโลกและทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของเฟดอีกด้วย

ส่วนอัตราดอกเบี้ยเงินรับฝากและเงินให้กู้ยืมของธนาคารพาณิชย์ ท่ามกลางโอกาสการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ ธปท.ต่อเนื่อง(จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงของทิศทางเศรษฐกิจและสัญญาณเสี่ยงที่ชัดเจน)นั้น คาดว่าคงมีการเคลื่อนไหวตามสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ แนวโน้มสินเชื่อ และการรักษาส่วนแบ่งตลาด โดยต้องจับตาสภาพคล่องในช่วงที่เหลือของปี ท่ามกลางความต้องการสินเชื่อของภาครัฐและเอกชน รวมทั้งปัจจัยด้านฤดูกาล อาทิ แรงดึงสภาพคล่องจากผลิตภัณฑ์การออมและการลงทุน เพื่อสิทธิประโยชน์ทางภาษีในช่วงท้ายปี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ