รัฐบาลตั้งคณะทำงานร่วม 2 ชุดดูแลห่วงโซ่อุปทาน-เข้ม FTA ดันส่งออกอาหาร-เกษตรฯ

ข่าวเศรษฐกิจ Monday July 8, 2013 17:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธีรัตถ์ รัตนเสวี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงผลการหารือร่วมกับผู้ประกอบการด้านอาหารและการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารว่า นายกรัฐมนตรีต้องการรับฟังปัญหาต่าง ๆ ของผู้ประกอบการด้านอาหาร เพราะรัฐบาลมีความประสงค์ที่จะเน้นเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีย้ำว่าขณะนี้อยู่ระหว่างการทำโซนนิ่งภาคการเกษตร จึงจำเป็นต้องมีการพูดคุยกับผู้ประกอบการสินค้าส่งออกของไทย เพื่อให้มีการปรับให้มีความเชื่อมโยงกันมากขึ้น รวมทั้งจะได้มีการดูแลห่วงโซ่อุปทานด้วย โดยผู้ประกอบการได้สะท้อนถึงการเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าและการส่งออกให้มีความสะดวกรวดเร็ว นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับการหาจุดยืนที่ชัดเจนในการเป็นตลาดเฉพาะของไทยให้ชัดเจน ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ย้ำว่าอยากเห็นการพัฒนาตลาดสินค้าฮาลาลให้เป็นที่ยอมรับมากขึ้น

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวต่อไปว่า ปัญหาที่นายกสมาคมอาหารสำเร็จรูปพบคือเรื่อง อย.ของไทยยังมีกฎเกณฑ์ที่ไม่ยืดหยุ่นเพียงพอ ไม่เอื้อต่อการแข่งขัน ซึ่งการผลิตเพื่อการส่งออกสินค้าในแต่ละครั้งจะต้องให้ อย. ตรวจอย่างละเอียด โดยผู้ประกอบการอาหารบอกว่ากฎหมายที่เกี่ยวข้องของเรายังไม่ครอบคลุม ทำให้ผู้ประกอบการของไทยไม่สามารถพัฒนาเทคนิคใหม่ ๆ ในการผลิตอาหารได้ เมื่อต้องส่งกลับไปที่ อย. ก็ทำให้เกิดความล่าช้าและส่งผลให้การส่งออกล่าช้าเช่นกัน ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้กล่าวว่าจะรับเรื่องนี้ไปปรับปรุงกฎระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องให้มีความสะดวกรวดเร็วเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการอาหารส่งออกได้ย้ำด้วยว่าอยากให้ผู้ประกอบการทุกรายยึดมั่นในเรื่องมาตรฐาน เพราะปัจจุบันมีบางรายที่แอบลดมาตรฐานสินค้าของตนเพื่อจะขายสินค้าในราคาที่ถูกลง ซึ่งทำให้กระทบต่อตลาดโดยรวม ขณะเดียวกันผู้ประกอบการภาคเอกชนอยากให้รัฐบาลเข้ามาช่วยดูแลในเรื่องมาตรการการตอบโต้การทุ่มตลาด

"ปัจจุบันมีสินค้าตัวหนึ่งคือข้าวโพดหวานที่มีปัญหากับทางยุโรป ปกติเมื่อเราพบปัญหามาตรการการตอบโต้การทุ่มตลาดกับประเทศหนึ่งก็เท่ากับว่าเราจะไม่สามารถส่งสินค้านั้นเข้าไปได้ในอีก 20 กว่าประเทศในยุโรป ผู้ประกอบการจึงเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยจ้างทนายเข้าไปดูแลเรื่องนี้ เพราะภาคเอกชนที่เป็นผู้ประกอบการรายกลางหรือรายเล็กไม่สามารถไปจ้างทนายเพื่อสู้คดีได้"นายธีรัตถ์ กล่าว

สำหรับผลสรุปในวันนี้ว่า นายกรัฐมนตรีเห็นชอบให้มีการตั้งคณะทำงานร่วมภาครัฐและเอกชน รวม 2 ชุด คือ 1. คณะทำงานร่วมภาครัฐและเอกชนเกี่ยวกับการดูแลกฎระเบียบและห่วงโซ่อุปทานด้านการส่งออกอาหารทั้งหมด โดยจะดูแลเรื่องอุตสาหกรรมอาหาร กฎระเบียบ มีนายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.เกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สภาพัฒน์)ที่จะมีการหารือร่วมกันอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้งเพื่อขจัดอุปสรรคต่าง ๆ พร้อมดูแนวทางกระบวนการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารของไทย

2. คณะทำงานร่วมภาครัฐและเอกชนเกี่ยวกับการพัฒนาการเจรจาการค้าเน้นเรื่องอุตสาหกรรมอาหาร (เอฟทีเออุตสาหกรรมอาหาร) มีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.รคลัง และนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์เป็นประธานคณะทำงาน

“นายกรัฐมนตรีบอกว่านี่เป็นจุดเริ่มต้นที่รัฐบาลให้ความสนใจที่จะดูแลทุกภาคส่วน โดยขอขอบคุณภาคอุตสาหกรรมอาหารที่ได้หารือในวันนี้ ซึ่งหลังจากนี้จะมีการพูดคุยกันในหลากหลายสาขาเพิ่มขึ้นอย่างน้อยเดือนละครั้ง เพื่อที่ภาครัฐจะได้รับฟังว่าปัญหาที่ภาคเอกชนเจออยู่ในปัจจุบันคืออะไร ต้องการให้รัฐบาลช่วยอะไรบ้าง" โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว

พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรียังได้สอบถามถึงภาพรวมการส่งออกของไทยในด้านการส่งออกอาหารในปีนี้ ซึ่งนายกสมาคมแช่เยือกแข็งได้กล่าวถึงการส่งออกกุ้งของไทยว่าในปีนี้น่าจะส่งออกในปริมาณที่เพิ่มขึ้นถึง 40% แต่จะมีมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้นเพียง 20% เท่านั้นเพราะค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น

ขณะที่ผู้ส่งออกไก่สดแช่แข็งคาดว่าในปีนี้น่าจะส่งออกไก่สดแช่แข็งได้ 620,000 ตัน มูลค่ารวมกว่า 79,000 ล้านบาท ถือว่าเติบโตกว่าปีที่แล้ว 7% และผู้ส่งออกอาหารสำเร็จรูปบอกว่ามูลค่าการส่งออกอาหารสำเร็จรูปในปีนี้น่าจะทำได้เท่ากับปีก่อนที่ประมาณ 180,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ยังมีสิ่งที่ผู้ประกอบการเรียกร้องคืออยากเห็นการพัฒนาท่าเรือของไทยให้มีศักยภาพมากยิ่งขึ้น โดยในโครงการ 2 ล้านล้านบาทของรัฐบาลที่จะมีการพัฒนาท่าเรือใหม่ที่จะเสร็จสิ้นในอีก 7 ปีข้างหน้าอาจล่าช้าเกินไป จึงอยากจะให้ใส่ใจกับการพัฒนาท่าเรือเดิมที่มีอยู่ให้มีการเพิ่มศักยภาพมากขึ้นให้เท่าทันกับในอาเซียน เช่น มาเลเซีย หรือสิงคโปร์ เพราะปัจจุบันการบริหารจัดการท่าเรือของไทยในส่วนของจำนวนการยกตู้คอนเทนเนอร์ต่อชั่วโมงยังมีจำนวนน้อยกว่าประเทศคู่แข่งมาก ซึ่งทำให้ไทยเสียโอกาสในการแข่งขันในการส่งออกอาหาร ทั้งมีความเสี่ยงต่อการเน่าเสียของอาหารค่อนข้างสูงมาก ทั้งนี้ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลังรับว่าจะหาทางอย่างเต็มที่ในการเพิ่มศักยภาพของท่าเรือที่มีอยู่

ทั้งนี้ ภาคเอกชนที่เข้าร่วมหารือวันนี้ อาทิ นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล รองประธานสภาหอการค้าฯ นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ นายกสมาคมแช่เยือกแข็ง นายอดิเรก ศรีประทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหารบมจ. เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF)


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ