China Focus: แรงกดดันด้านเงินเฟ้อจีนครึ่งปีหลังส่อแววอ่อนแรงหลัง PPI ร่วงต่อเนื่อง

ข่าวต่างประเทศ Tuesday July 9, 2013 16:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

จีนคาดว่าจะเผชิญกับแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่อ่อนตัวลงในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ เมื่อพิจารณาจากดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ที่ร่วงลงอย่างต่อเนื่อง

ข้อมูลล่าสุดจากสำนักงานสถิติแห่งชาติจีนเผยดัชนี PPI จีนในเดือนมิ.ย.ปรับตัวลงไป 2.7% จากระดับปีที่แล้ว และปรับตัวลง 0.6% จากระดับเดือนพ.ค.

อัตราการหดตัวของดัชนี PPI เมื่อเทียบรายปีในเดือนมิ.ย. ชะลอตัวลงจากเดือนพ.ค.ที่อ่อนตัว 2.9% เมื่อเทียบรายปี

สำหรับดัชนี producer purchase price index เดือนมิ.ย. ร่วง 2.6% จากระดับปีที่แล้ว และลดลง 0.5% จากเดือนก่อนหน้า

หลิว หลี่กัง หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของเอเอ็นแซท แบงก์ เกรทเทอร์ ไชน่า กล่าวว่า ดัชนี PPI ขยายตัวในแดนลบมาเป็นเวลา 16 เดือนติดต่อกัน ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงดีมานด์ที่อ่อนแรง

ดัชนี PPI ที่อ่อนตัวนี้ สอดคล้องกับดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) โดยดัชนี PMI ภาคการผลิตของจีนที่ร่วงลงมาอยู่ที่ 50.1 ในเดือนมิ.ย. ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงสภาพเศรษฐกิจที่อ่อนแอ ส่วนดัชนีราคาจัดซื้อวัตถุดิบ ซึ่งเป็นดัชนีย่อยของดัชนี PMI อยู่ที่ 44.6 ในเดือนมิ.ย. ซึ่งต่ำกว่าระดับ 50 มาเป็นเวลา 3 เดือนติดต่อกัน บ่งชี้ถึงราคาผลิตภัณฑ์ภาคอุตสาหกรรมที่ซบเซา

จากการคาดการณ์ของสถาบันหลายแห่งนั้น ดัชนี PPI ยังไม่มีแนวโน้มว่าจะกลับมาขยายตัวเป็นบวกภายในปีนี้

จู เจียนฟ่าง หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของซิติค ซิเคียวริตีส์ กล่าวว่า ภาวะการผลิตที่มากจนเกินไปในบางภาคอุตสาหกรรมจะยังคงส่งผลต่อการดีดตัวขึ้นของดัชนี PPI ในอนาคต

เพื่อลดต้นทุน บริษัทในอุตสาหกรรมต่างๆที่มีปัญหาการผลิตที่สูงจนเกินไปอย่างรุนแรงจำเป็นต้องรักษาระดับการผลิตต่อไป ซึ่งทำให้เกิดภาวะอุปทานมากเกินไปในอุตสาหกรรมเหล่านี้ และยังเป็นปัจจัยที่ถ่วงรั้งราคาของผลิตภัณฑ์

นับตั้งแต่ต้นปีนี้ ดัชนีผลผลิต ซึ่งเป็นดัชนีย่อยของดัชนี PMI ปรับตัวสูงขึ้นกว่าดัชนียอดสั่งซื้อใหม่ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงภาวะอุปทานที่สูงเกินไปในภาคการผลิต ในเดือนมิ.ย.นั้น ดัชนีผลผลิตอยู่ที่ 52 ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่าดัชนีสั่งซื้อใหม่อยู่ 1.6%

นักวิเคราะห์กล่าวว่า ดัชนี PPI ที่ร่วงลงนี้ อาจจะยังคงส่งผลต่อเศรษฐกิจต่อไป ราคาผลิตภัณฑ์ที่อ่อนแออาจจะทำให้บริษัทต่างๆเลื่อนการเพิ่มสต็อกสินค้า หรืออาจจะทำให้เกิดการระบายสินค้าในสต็อก ซึ่งในที่สุดก็จะส่งผลกระทบต่อการดีดตัวของเศรษฐกิจ

จากกระแสคาดการณ์ว่าราคาผลิตภัณฑ์ภาคอุตสาหกรรมจะยังคงอ่อนแอในอนาคต จีนจึงมีแนวโน้มว่าจะเผชิญกับแรงกดดันด้านเงินเฟ้อในระดับต่ำในช่วงครึ่งปีหลัง

ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของจีน ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่สำคัญ เพิ่มขึ้น 2.7% ต่อปีในเดือนมิ.ย. สูงกว่าระดับการขยายตัวในเดือนพ.ค.ที่ 2.1% และสูงกว่าการคาดการณ์ของตลาดเพียงเล็กน้อย

หลิว หลี่กังเชื่อว่า ดัชนี CPI ยังไม่มีแนวโน้มว่าจะดีดตัวขึ้นมากนักในช่วง 1-2 ไตรมาสหน้า เมื่อพิจารณาจากดัชนี PPI ที่อ่อนตัว

ข้อมูลจากไชน่า อินเตอร์เนชั่นแนล แคปิตอล คอร์ปอเรชั่น ระบุว่า การขยายตัวของดัชนี CPI ในไตรมาส 3 จะปรับตัวขึ้นจากไตรมาส 2 เนื่องจากฐานตัวเลขที่อยู่ในระดับต่ำในไตรมาส 3 ของปีที่แล้ว

แต่แรงกดดันด้านเงินเฟ้อจะยังคงอยู่ที่ระดับต่ำสำหรับตลอดทั้งปี และการขยายตัวของดัชนี CPI ในปีนี้ จะอยู่ใกล้เคียงกับการขยายตัวเมื่อปีที่แล้วที่ 2.6%

เหลียน ผิง หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของแบงก์ ออฟ คอมมิวนิเคชั่นส์ ซึ่งได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของดัชนี CPI ของจีนในปีนี้ลงมาอยู่ที่ 2.6% จากการคาดการณ์ก่อนหน้านี้ที่ 2.8% กล่าวว่า ระดับราคาจะยังคงมีเสถียรภาพในอนาคต และความเป็นไปได้ที่จีนจะผ่อนปรนนโยบายเงินตราอีกนั้นมีน้อยมาก สำนักข่าวซินหัวรายงาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ