(เพิ่มเติม) นายกฯเรียก Workshop ศุกร์นี้ หลังสภาพัฒน์มองแนวโน้ม Q2/56 ศก.ชะลอตัว

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday July 9, 2013 17:17 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายภักดีหาญส์ หิมะทองคำ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะเรียกกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพลังงาน และกระทวงมหาดไทย มาหารือร่วมกันในวันที่ 12 ก.ค.เพื่อประชุมติดตามราคาและผลิตผลผลิตภัณฑ์ของทุกกระทรวงว่าสถานการณ์ในช่วงที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันเป็นอย่างไรและแนวโน้มจะเป็นอย่างไร เพื่อหาแนวทางการทำงานในอนาคต
"เป็นการ Workshop การทำงานในวันศุกร์ เพื่อให้แต่ละกระทรวงไปตรวจสอบสำรวจในส่วนที่แต่ละกระทรวงรับผิดชอบ เหมือนเรียกมาอัพเดตปัญหาในอดีตจนถึงปัญหาว่าผลิตผลและราคาสินค้าของแต่ละกระทรวงเป็นยังไง และต่อไปจะดำเนินการต่อไปอย่างไร เป็นเหมือนรวบรวมข้อมูลมาถกกันว่าในอนาคตแนวทางการทำงานจะเป็นยังไง"นายภักดีหาญส์ กล่าว

สาเหตุที่นายกรัฐมนตรีสั่งให้มีการประชุมดังกล่าว เป็นผลมาจากการเยือนประเทศโปแลนด์-ตุรกี ซึ่งส่วนใหญ่พูดถึงสินค้าเกษตรรวมถึงการลงนามใน MOU ร่วมกันทำให้ต้องกลับมาสำรวจภายในประเทศไทยว่ามีอะไรที่เราจะต้องปรับเปลี่ยนหรือทำงานเพิ่มเติมเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด

อนึ่ง สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สภาพัฒน์)รายงาน ครม.ในวันนี้ว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2/56 มีแนวโน้มชะลอตัวลงจากไตรมาสแรก หลังเครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจที่สำคัญในเดือน พ.ค.ยังหดตัว ทั้งด้านการใช้จ่ายและการผลิต โดยเฉพาะดัชนีการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมและการใช้จ่ายภาครัฐเมื่อรวมกับข้อมูลในเดือนเม.ย.แต่ภาคท่องเที่ยวยังแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง ขณะที่เสถียรภาพทางเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดีทั้งเงินเฟ้อที่ชะลอตัวต่อเนื่องและการว่างงานที่อยู่ในระดับต่ำ

พร้อมระบุว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2556 มีแนวโน้มขยายตัวในช่วงร้อยละ 4.2-5.2 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปีในช่วงร้อยละ 2.3-3.3 และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 0.9 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ขณะที่เศรษฐกิจโลกยังอยู่ในช่วงฟื้นตัวอย่างช้าๆ ทั้งสหรัฐ ขยายตัวในเกณฑ์ต่ำในไตรมาสแรกแต่มีสัญญาณของการปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่สถานการณ์เศรษฐกิจโลก ยังอยู่ในช่วงของการฟื้นตัวอย่างช้าๆ เศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัวในเกณฑ์ต่ำในไตรมาสแรก แต่มีสัญญาณของการปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง, เศรษฐกิจยูโรโซนยังคงหดตัว อัตราการว่างงานยังอยู่ในเกณฑ์สูง แต่ภาคการผลิตเริ่มมีเสถียรภาพและส่งสัญญาณของการปรับตัวดีขึ้น, เศรษฐกิจญี่ปุ่น เริ่มมีสัญญาณของการฟื้นตัวตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลและมาตรการขยายปริมาณเงิน อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจจีนและประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียมีแนวโน้มชะลอตัวลงจากไตรมาสแรก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ