เงินบาทปิดตลาด 31.29/30 แข็งค่าจากช่วงเช้า นลท.รอการประชุมกนง.

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday July 9, 2013 17:41 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า เงินบาทปิดตลาดเย็นนี้อยู่ที่ระดับ 31.29/30 บาท/ดอลลาร์ ปรับตัวแข็งค่าจากเปิดตลาดช่วงเช้าที่ระดับ 31.43/45 บาท/ดอลลาร์ ระหว่างวันเงินบาทไปทำโลว์ที่ระดับ 31.24 บาท/ดอลลาร์ และทำไฮที่ระดับ 31.46 บาท/ดอลลาร์
"หลังเปิดตลาดเงินบาทค่อยๆ ทยอยปรับตัวแข็งค่าไปทำโลว์ที่ 31.24(บาท/ดอลลาร์) น่าจะเป็นผลจากเมื่อวานปรับตัวอ่อนค่ามากเกินไป ตลาดก็ซื้อไม่ไหวแล้วเลยมีแรงเทขายออกมา" นักบริหารเงิน กล่าว

ตลาดรอดูผลประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) เกี่ยวกับความคืบหน้าการดำเนินมาตรการ QE ช่วงเช้าวันที่ 11 ก.ค. และผลประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ในวันพรุ่งนี้(10 ก.ค.)

นักบริหารเงินประเมินทิศทางการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันพรุ่งนี้ไว้กรอบระหว่าง 31.20-31.40 บาท/ดอลลาร์

  • ปัจจัยสำคัญ
  • เงินเยนอยู่ที่ระดับ 101.25 เยน/ดอลลาร์ จากระดับ 101.17/18 เยน/ดอลลาร์
  • เงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.2862 ดอลลาร์/ยูโร จากระดับ 1.2857/2860 ดอลลาร์/ยูโร
  • ดัชนี SET ปิดวันนี้ที่ระดับ 1,398.69 จุด ลดลง 5.95 จุด, -0.42% มูลค่าการซื้อขาย 44,938.74 ล้านบาท
  • สรุปปริมาณการซื้อขายรายกลุ่ม ต่างชาติขายสุทธิ 861.82 ลบ.(SET+MAI)
  • สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สภาพัฒน์)รายงาน ครม.ถึงภาวะเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2/56 ว่า มีแนวโน้มชะลอตัวลงจากไตรมาสแรก หลังเครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจที่สำคัญในเดือน พ.ค.ยังหดตัว ทั้งด้านการใช้จ่ายและการผลิต โดยเฉพาะดัชนีการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมและการใช้จ่ายภาครัฐเมื่อรวมกับข้อมูลในเดือนเม.ย.แต่ภาคท่องเที่ยวยังแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง ขณะที่เสถียรภาพทางเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดีทั้งเงินเฟ้อที่ชะลอตัวต่อเนื่องและการว่างงานที่อยู่ในระดับต่ำ
  • น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะเรียกกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพลังงาน และกระทวงมหาดไทย มาหารือร่วมกันในวันที่ 12 ก.ค.เพื่อประชุมติดตามราคาและผลิตผลผลิตภัณฑ์ของทุกกระทรวงว่าสถานการณ์ในช่วงที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันเป็นอย่างไรและแนวโน้มจะเป็นอย่างไร เพื่อหาแนวทางการทำงานในอนาคต
  • สำนักงานการบริหารและงบประมาณ(OMB) ของสหรัฐ คาดยอดขาดดุลงบประมาณของรัฐบาลกลางสหรัฐประจำปีงบประมาณ 2556 ไปจนถึงเดือน ก.ย.จะปรับตัวลดลงสู่ระดับ 7.59 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้เมื่อเดือน เม.ย.ที่ 2 แสนล้านดอลลาร์ โดยตัวเลขการขาดดุลดังกล่าวคิดเป็นสัดส่วน 4.7% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(GDP) ซึ่งลดลงจากเมื่อ 4 ปีก่อนหน้า ซึ่งเคยอยู่ที่ระดับ 10.1%
  • องค์การเพื่อความร่วมมือและพัฒนาเศรษฐกิจ(OECD) รายงานเศรษฐกิจอังกฤษอยู่ในทิศทางของการเติบโต โดยดัชนีชี้วัดรวม(CLI) ของอังกฤษทรงตัวที่ระดับ 100.7 ในเดือน พ.ค. โดยตัวเลขที่เหนือระดับ 100.1 แสดงให้เห็นถึงการขยายตัวของเศรษฐกิจ
  • ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) รายงานสินเชื่อผู้บริโภคสหรัฐในเดือน พ.ค.เพิ่มขึ้น 8.3% เมื่อเทียบรายปี ซึ่งแสดงให้เห็นว่าชาวอเมริกันมีการกู้ยืมเพื่อนำมาใช้จ่ายมากขึ้น โดยการกู้ยืมของผู้บริโภคมีจำนวนทั้งสิ้น 2.8393 ล้านล้านดอลลาร์ในเดือน พ.ค.เทียบกับ 2.8197 ล้านล้านดอลลาร์ในเดือน เม.ย. ส่วนสินเชื่อหมุนเวียน ซึ่งรวมถึงบัตรเครดิต เพิ่มขึ้นแตะ 8.565 แสนล้านดอลลาร์ในเดือน พ.ค. ซึ่งพุ่งขึ้น 9.3% ในอัตรารายปี จากตัวเลขในเดือน เม.ย. ขณะที่การกู้ยืมประเภทที่ไม่ใช่สินเชื่อหมุนเวียน ซึ่งรวมถึงสินเชื่อรถยนต์และสินเชื่อเพื่อการศึกษาปรับขึ้น 7.9% เมื่อเทียบรายปี แตะ 1.9828 ล้านล้านดอลลาร์
  • กระทรวงการวางแผนกลยุทธ์และการคลังของเกาหลีใต้ เผยในรายงานปกเขียวว่า เศรษฐกิจยังคงชะลอตัวลงถึงแม้ว่ารัฐบาลดำเนินการหลายมาตรการ เช่น แผนงบประมาณพิเศษและการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แม้ผลผลิตภาคบริการเพิ่มขึ้น 0.2% ในเดือน พ.ค.เมื่อเทียบกับเดือน เม.ย. แต่ผลผลิตในอุตสาหกรรมเหมืองแร่และอุตสาหกรรมการผลิตลดลง 0.4% ยอดค้าปลีกลดลง 0.2% จากช่วงเวลาเดียวกัน ขณะที่การลงทุนด้านการก่อสร้างหดตัวลง 4.3% ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือน มิ.ย.เพิ่มขึ้น 1% จากปีก่อน แต่ยังคงอยู่ที่ระดับต่ำสุดในรอบ 14 ปีเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน ส่วนการส่งออกซึ่งมีสัดส่วนประมาณครึ่งหนึ่งของขนาดเศรษฐกิจลดลง 0.9% ในเดือน มิ.ย.เมื่อเทียบกับปีก่อน ท่ามกลางอุปสงค์ที่อ่อนแอจากญี่ปุ่น หลังค่าเงินเยนปรับตัวลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์และเงินวอนของเกาหลีใต้ อันเนื่องมาจากการผ่อนคลายทางการเงินในเชิงรุกของญี่ปุ่น
  • เอชเอสบีซีระบุในรายงานฉบับหนึ่งว่า แม้มีสัญญาณของความมีเสถียรภาพในยูโรโซน แต่ธนาคารกลางยุโรป(อีซีบี) ก็ยังไม่มีแนวโน้มที่จะยุติหรือชะลอนโยบายกระตุ้นทางการเงินในเร็วๆ นี้ โดยเอชเอสบีซีคาดว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี) ของยูโรโซนจะขยายตัวเพียง 0.6% ในปี 2557 ซึ่งต่ำกว่าคาดการณ์ของอีซีบีอยู่ 0.5%
  • ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นอายุ 10 ปี ปรับตัวลดลงวันนี้ หลังจากราคาพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐเพิ่มขึ้น โดยพันธบัตรหมายเลข 329 ซึ่งเป็นมาตรวัดอัตราดอกเบี้ยระยะยาว ปิดที่ 0.865% ลดลง 0.015% จากระดับปิดเมื่อวานนี้ ส่วนราคาสัญญาพันธบัตรอายุ 10 ปีส่งมอบเดือนกันยายน ปรับตัวขึ้น 0.16 จุด แตะที่ระดับ 142.38 ในตลาดโตเกียว
  • กระทรวงงบประมาณของฝรั่งเศส เผยยอดขาดดุลงบประมาณของฝรั่งเศสเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 7.26 หมื่นล้านยูโรในช่วงเดือน ม.ค.-พ.ค.ปีนี้ เทียบกับที่ขาดดุล 6.96 หมื่นล้านยูโรในช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งแสดงให้เห็นว่า รัฐบาลฝรั่งเศสยังคงประสบปัญหาในการบรรลุเป้าหมายทางการคลังในปีนี้ โดยรัฐบาลตั้งเป้าขาดดุลงบประมาณไว้ที่ 3.7% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี)
  • สำนักงานสถิติแห่งชาติอังกฤษ เผยผลผลิตภาคการผลิตในเดือน พ.ค.หดตัวลง 0.8% จากเดือน เม.ย.ที่อ่อนตัว 0.2% ซึ่งเป็นผลมาจากการผลิตเภสัชภัณฑ์และโลหะที่ร่วงลง โดยข้อมูลล่าสุดสะท้อนว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจอังกฤษในวงกว้างนั้นอาจยังชะงักงัน ส่วนการผลิตภาคอุตสาหกรรมโดยรวมทรงตัวเมื่อเปรียบเทียบกับเดือน เม.ย. เพราะได้แรงหนุนจากการผลิตน้ำมันและก๊าซที่เพิ่มขึ้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ