สำหรับภาครัฐ กระทรวงไอซีทีเป็นหน่วยงานหลักในการผลักดันเรื่องดังกล่าว และได้ดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการส่งเสริมนโยบาย IPv6 ซึ่งมีผู้แทนหลายภาคส่วนมาร่วมพิจารณาเรื่องการดำเนินการของประเทศไทยในการใช้ IPv6 โดยมีการวางแนวทางการดำเนินการเตรียมความพร้อมเครือข่าย IPv6 สำหรับภาครัฐเป็นการนำร่อง และได้ประกาศการเปลี่ยนผ่านไปสู่ IPv6 อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2554 เพื่อเป็นการแสดงความชัดเจนของประเทศไทย
และในปีเดียวกันนั้น กระทรวงฯ ได้ร่วมดำเนินการทดสอบ IPv6 ในวันที่ 8 มิถุนายน 2554 ซึ่งเป็นวัน World IPv6 Day พร้อมจัดงานสัมมนาเรื่อง "ก้าวสู่จุดเปลี่ยน IPv6 ประเทศไทย" เพื่อเป็นการให้ความรู้และกระตุ้นให้เกิดความตื่นตัวในการเตรียมความพร้อมในการปรับปรุงและพัฒนาเครือข่ายคอมพิวเตอร์ภายในประเทศไทยไปสู่การใช้งานเทคโนโลยี IPv6 และนำเครือข่ายภาครัฐ ภาคเอกชนร่วมทดสอบ IPv6 อย่างเป็นทางการ รวมทั้งจัดฝึกอบรมการเปลี่ยนผ่าน IPv4 ไปสู่ IPv6 ให้แก่ผู้ดูแลระบบเครือข่ายและผู้ดูแลระบบโปรแกรมประยุกต์ของหน่วยงานภาครัฐ
นอกจากนั้นในปีงบประมาณที่ผ่านมา กระทรวงฯ ได้ดำเนินการจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อผลักดัน ส่งเสริม เร่งรัด และติดตามผลการดำเนินงาน IPv6 ในประเทศไทย พร้อมทั้งได้ขอความร่วมมือหน่วยงานภายใต้สังกัดดำเนินการเปลี่ยนผ่านไปสู่ IPv6 ภายในเดือนพฤษภาคม 2555 โดยในระยะแรกหน่วยงานจะดำเนินการนำเว็บไซต์มาให้บริการผ่านเครือข่าย IPv6 และได้เชิญชวนหน่วยงานภาครัฐเข้าร่วมทดสอบในวัน World IPv6 Launch ในวันที่ 6 มิถุนายน 2555 รวมทั้งจัดงานสัมมนาเรื่อง "Thailand IPv6 Launch 2012" ในวันที่ 26 มิถุนายน 2555 เพื่อนำผลและประสบการณ์ในการทดสอบดังกล่าวมานำเสนอแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและปรับปรุงการดำเนินงาน
"ส่วนในปีงบประมาณ 2556 นี้ กระทรวงฯ ได้ดำเนินกิจกรรมส่งเสริม สนับสนุนและผลักดันการปรับเปลี่ยนไปสู่ IPv6 ของหน่วยงานภาครัฐ ภายใต้โครงการบริหารจัดการนโยบายบรอดแบนด์แห่งชาติขึ้น เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจ และเป็นการกระตุ้นให้เกิดการวางแผนการดำเนินการปรับเปลี่ยนไปใช้งาน IPv6 รวมถึงเป็นโอกาสในการแลกเปลี่ยนความรู้ และประสบการณ์ในการดำเนินการปรับเปลี่ยนไปใช้งาน IPv6 ของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง" ปลัดกระทรวงไอซีทีกล่าว
สำหรับการสัมมนาครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมดังกล่าว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักสำหรับผู้บริหารเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารระดับสูง (CIO) ภาครัฐ โดยเน้นเรื่องการปรับเปลี่ยนไปสู่ IPv6 ซึ่งเนื้อหาในการสัมมนามีประเด็นที่น่าสนใจ ประกอบด้วย กรอบนโยบายและการดำเนินงาน IPv6 ของประเทศไทย, การเตรียมความพร้อมของเครือข่ายและบริการภาครัฐ Broadband Access and Service Revolution and Strategic planning challenge: Case study of ISOC community และความท้าทายการบริหารโครงการสารสนเทศและการสื่อสารในทศวรรษหน้า โดยวิทยากรจากองค์กรที่มีประสบการณ์ด้าน IPv6
ทั้งนี้ กระทรวงฯ คาดหวังให้การสัมมนาครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาองค์กรของทุกหน่วยงานภาครัฐ เพื่อช่วยกันผลักดันการดำเนินงานการเปลี่ยนถ่ายเครือข่ายอินเทอร์เน็ตไปสู่เครือข่ายและบริการ IPv6 ให้บรรลุผลและทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีต่อไป