(เพิ่มเติม) รมว.พาณิชย์ ออก TOR ศุกร์นี้หวังเริ่มประมูลขายข้าวในสต็อกสัปดาห์หน้า

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 10, 2013 14:38 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า การจัดทำเงื่อนไขการประมูลขายข้าวในสต๊อกของรัฐบาลจะเสร็จเรียบร้อยภายในวันที่ 12 ก.ค.นี้ และคาดว่าจะสามารถเปิดประมูลได้ในสัปดาห์หน้า โดยกระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าที่จะเปิดประมูลข้าวขาวให้ได้เดือนละ 500,000-1,000,000 ตัน, ข้าวเปลือก 400,000 ตัน ซึ่งจะทำเป็นข้าวนึ่งได้ประมาณ 200,000 ตัน

นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์เตรียมนำข้าวในสต็อกเข้าทำการซื้อขายในตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย(AFET) จำนวน 500,000-1,000,000 ตัน ภายใน 6 เดือน พร้อมทั้งผลักดันและเร่งรัดการขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ(G to G)

สำหรับการขายข้าวในสต๊อกรัฐแบบรัฐต่อรัฐ(G to G) นั้นยังไม่ได้กำหนดปริมาณที่แน่นอน แต่จะเร่งรัดให้ประเทศผู้ซื้อที่ทำสัญญาซื้อขายกับรัฐบาลไทยไปแล้วมารับมอบโดยเร็ว เพื่อจะได้นำเงินมาส่งคืนกระทรวงการคลังต่อไป ส่วนประเทศที่ทำบันทึกความตกลง(MOU) ว่าจะซื้อข้าวจากไทย เช่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ จีน ฯลฯ นั้น ตนเองและนายยรรยง พวงราช รมช.พาณิชย์ จะเดินทางไปเยือนเพื่อเร่งรัดให้นำเข้าข้าวจากไทยโดยเร็วตามที่ตกลงกันไว้

พร้อมกันนั้น ที่ประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าวยังอนุมัติในหลักการให้นำข้าวหอมมะลิไปบรรจุถุงขายเป็นของฝาก ของที่ระลึกให้กับนักท่องเที่ยว เพื่อเป็นการพัฒนาตลาดข้าวของไทย สร้างภาพลักษณ์ข้าวหอมมะลิไทยให้ทั่วโลกได้รู้จัก และคุ้นเคยมากขึ้น

ด้านนายยรรยง พวงราช รมช.พาณิชย์ กล่าวถึงการคืนเงินจากการขายข้าวในสต๊อกรัฐบาลให้กับกระทรวงการคลัง ว่า กรมการค้าต่างประเทศได้รายงานว่าตั้งแต่เดือน ม.ค.56 จนถึงขณะนี้ คืนเงินไปแล้วเกือบ 70,000 ล้านบาท และหากรวมกับการขายตั้งแต่ช่วงปลายปีก่อนจนถึงขณะนี้ คืนเงินไปแล้วกว่า 139,000 ล้านบาท จากการขายข้าวแบบจีทูจีราว 4.5 ล้านตัน

ส่วนนางปราณี ศิริพันธ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ กระทรวงพาณิชย์ได้ทำสัญญาซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐกับจีนอีก 5 ล้านตัน ภายใน 3 ปี จากปีก่อนหน้าที่ทำสัญญาจีทูจีไปแล้ว 7.3 ล้านตัน ส่งผลให้ตั้งแต่ปลายปี 54 จนถึงขณะนี้ ไทยทำสัญญาแบบจีทูจีไปแล้วราว 12.3 ล้านตัน และคาดว่า ภายในปีนี้น่าจะทำสัญญาได้เพิ่มมากขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ