อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าการขยายงานไม่สามารถทำงานด้วยความรวดเร็วได้เท่ากับความต้องการ เพราะปริมาณรถเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดมีจำนวนรถยนต์ที่ใช้เอ็นจีวีประมาณ 4.1 แสนคัน จากรถยนต์ทั้งประเทศ 12 ล้านคัน และความต้องการเอ็นจีวีเพิ่มขึ้นเป็น 8,500 ตันต่อวัน โดยราคาต้นทุนเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 16 บาทต่อกิโลกรัม แต่ราคาขายหน้าปั๊มอยู่ที่ 10.50 บาทต่อกิโลกรัม ขาดทุน 5.50 บาทต่อกิโลกรัม รวมแล้วขาดทุนไม่ต่ำกว่า 52 ล้านบาทต่อวัน หรือเกือบ 20,000 ล้านบาทต่อปี จากที่ขาดทุนสะสมมาแล้วประมาณ 60,000 ล้านบาท
" ปตท.ถือหุ้นโดยรัฐมากกว่าร้อยละ 60 เมื่อปตท.ขาดทุนเอ็นจีวีก็จะมีผลต่อภาษีที่จ่ายต่อรัฐและเงินปันผล จากที่ผ่านมาปตท.ได้ส่งรายได้เข้ารัฐไม่ต่ำกว่า 60,000 ล้านบาทต่อปี อย่างไรก็ตามปตท.ได้เร่งขยายปั๊มบริการเอ็นจีวี โดยปีนี้จะสร้างเพิ่มอีก 7 แห่ง แบ่งเป็นในกรุงเทพฯ 5 แห่ง สถานีย่อย 1 แห่ง และสถานีตามแนวท่ออีก 1 แห่ง รวมเป็นประมาณ 490 แห่งภายในปีนี้"นายวิชัย กล่าว
ส่วนการจำหน่ายเอ็นจีวีสำหรับรถบรรทุกนั้น ปตท.ได้เสนอแผนไปยังกระทรวงพลังงานแล้วให้แยกการจำหน่าย โดยปรับลดคุณภาพเอ็นจีวีไม่จำเป็นต้องเติมก๊าซคาร์อนไดออกไซด์ ซึ่งนายพงษ์ศักดิ์ รักตพงษ์ไพศาล รมว.พลังงาน เห็นด้วย แต่กรมธุรกิจพลังงานยังไม่ได้อนุมัติการปรับคุณภาพดังกล่าว
"หากปรับคุณภาพแล้วจะสามารถแยกการขายเอ็นจีวีออกมาเป็นลักษณะฟีดรถที่ผู้ประกอบการแต่ละรายสามารถไปจัดตั้งสถานีของตนเองไม่ต้องไปแย่งคิวกับสถานีเอ็นจีวีทั่วไป ทำให้การบริการจะรวดเร็วขึ้น ซึ่งล่าสุดได้มีผู้ประกอบการรถบรรทุกประมาณ 3-4 รายมาเซ็นเอ็มโอยูกับปตท.เพื่อรอการจัดตั้งสถานีแล้ว"นายวิชัย กล่าว