"กิตติรัตน์" เผยหากโครงการน้ำ-โครงสร้างพื้นฐานสะดุดกระทบความเชื่อมั่นนลท.-เสถียรภาพศก.

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 10, 2013 15:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง กล่าวถึงกรณีที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับลดอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของโลกว่า ได้มีการวิเคราะห์และคาดการณ์จากหน่วยงานด้านเศรษฐกิจไว้แล้วว่าเศรษฐกิจโลกจะไม่ขยายตัวอย่างที่คิด ดังนั้นการที่ไอเอ็มเอฟออกมาคาดการณ์ดังกล่าวถือว่าเป็นเรื่องที่สอดคล้องกับความเข้าใจในทั่วโลก

สำหรับประเทศไทยเองนั้น หน่วยราชการที่คาดการณ์เศรษฐกิจก็ได้ปรับลดความคาดหวังการขยายตัวของประเทศไทยลงไปบ้างแล้วจากเดิมที่คาดว่าปีนี้เศรษฐกิจไทยจะโตได้ 5% ลงมาเหลือราว 4% ซึ่งเชื่อว่าทุกฝ่ายจะเข้าใจ เพราะไทยเองยังต้องพึ่งพาภาคส่งออกอยู่ไม่น้อย แม้จะปรับฐานสมดุลการบริโภคในประเทศหรือการใช้จ่ายภาครัฐ รวมถึงการลงทุนของเอกชนไปแล้ว

ทั้งนี้ หากไม่ต้องการให้เศรษฐกิจของไทยชะลอตัวจนเกินไปนั้น ยังพอมีสิ่งที่ทำได้คือ การพึ่งพาภาคบริการและการท่องเที่ยว เพราะพบว่ามีอัตราการขยายตัวดีมากในช่วงเดือนพ.ค.-มิ.ย.ที่ผ่านมา ดังนั้นการพัฒนาจังหวัดต่างๆ ให้รองรับการท่องเที่ยวทั้งจากต่างประเทศและภายในประเทศจึงมีความสำคัญ

ส่วนแนวทางที่จะดูแลหลังจากไอเอ็มเอฟปรับลดการขยายตัวทางเศรษฐกิจลงนั้น ในส่วนของประเทศไทยเองคงต้องรักษาบรรยากาศโดยรวมที่ดีของประเทศไว้เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้ง เพราะหากมีการประท้วงรุนแรงอาจทำให้นักท่องเที่ยวหดหายไป หรือการตัดสินใจลงทุนของนักลงทุนต่างประเทศเกิดการชะลอตัว อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เรายังไม่เห็นสัญญาณอะไรที่เกิดข้อกังวลในเรื่องการว่างงาน หลายประเทศในโลกมีปัญหาทางเศรษฐกิจเพราะคนหางานยาก แต่อัตราการว่างงานของไทยยังอยู่ในเกณฑ์ดี และพบว่าหลายกลุ่มธุรกิจขาดแคลนแรงงานด้วยซ้ำ

รองนายกฯ และรมว.คลัง กล่าวด้วยว่า สิ่งที่สำคัญและหลายคนต่างรอคอยที่จะเห็นอย่างเป็นรูปธรรมคือ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ 2 เรื่อง ได้แก่ 1.โครงการบริหารจัดการน้ำมูลค่า 3.5 แสนล้านบาท ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการทำประชาพิจารณ์ และกระบวนการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(EIA) และผลกระทบด้านสุขภาพ(HIA) ตามคำวินิจฉัยของศาลปกครองกลาง และ 2. แผนการลงทุนด้านการคมนาคมขนส่งที่มีการเตรียมการลงทุนไว้ 7 ปี มูลค่า 2 ล้านล้านบาท ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญให้เศรษฐกิจมีเสถียรภาพในระหว่างที่มีการลงทุน ซึ่งเมื่อมีการลงทุนเสร็จแล้ว ประสิทธิภาพในประเทศและความเสี่ยงในเรื่องอุทกภัยและภัยแล้งจะลดน้อยลง

อย่างไรก็ดี ยอมรับว่าหลังจากเกิดปัญหาในขั้นตอนของการทำโครงการบริหารจัดการน้ำ และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งทำให้นักลงทุนมีความกังวลอยู่บ้าง เพราะไทยเพิ่งจะผ่านพ้นวิกฤติอุกทภัยเมื่อปลายปี 54 ได้ไม่นาน และการลงทุนในระบบบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการเป็นเรื่องของการเตรียมตัวให้ไทยปลอดจากความเสี่ยงของภัยธรรมชาติ ดังนั้นการชะงักในขั้นตอนนี้ทำให้เขากังวลบ้าง แต่หลังจากที่ได้รับคำชี้แจงว่าจำเป็นต้องทำตามขั้นตอนที่ศาลปกครองกลางมีคำสั่ง นักลงทุนก็มีความเข้าใจมากขึ้น แต่เขาจะติดตามและจับตาดูว่าไทยจะลงทุนจริงหรือไม่

นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า คงเป็นการยากที่จะประเมินค่าความเสียหายหากทั้ง 2 โครงการดังกล่าวไม่สามารถเกิดขึ้นได้ เพราะคงไม่สามารถประมาณค่าเป็นตัวเลขได้ เนื่องจากความเสียหายที่เกิดขึ้นจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนเป็นอย่างมาก ดูจากตอนน้ำท่วมใหญ่ปลายปี 54 มีมูลค่าความเสียหายของผู้ลงทุนในจำนวนที่สูงมาก

"การที่เราจะลงทุนจำนวน 3.5 แสนล้านบาท เพื่อคุ้มครองทรัพย์สินที่มูลค่ามากกว่านั้นหลายเท่าของภาคเอกชนจึงเป็นเรื่องจำเป็น อย่าเข้าใจว่าเราคุ้มครองนายทุน แต่เขาเหล่านี้เป็นผู้จ้างงานคนจำนวนนับล้านคน ฉะนั้น เรามามั่นใจด้วยกันว่าจะดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ ให้ลุล่วงไปได้ มิฉะนั้นจะเกิดความเสียอย่างประมาณค่าไม่ได้" รองนายกฯ และรมว.คลังระบุ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ