เหลียน ปิง หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์แห่งแบงก์ ออฟ คอมมิวนิเคชั่นส์ กล่าวว่า เมื่อเปรียบเทียบกับสภาพเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสแรกนั้น เศรษฐกิจจีนยังคงอ่อนตัวในช่วงไตรมาสที่ 2
เหลียน ปิง ระบุว่า ปัจจัยหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีน 3 ประการ ได้แก่ ผู้ส่งออก การลงทุน และการบริโภค ยังคงมีแนวโน้มที่อ่อนตัว การขยายตัวของกิจกรรมภาคการผลิตที่ซบเซาจะชะลอตัวลง ส่วนการบริโภคจะยังทรงตัว
ข้อมูลจากสำนักศุลกากร (GAC) บ่งชี้ว่า การส่งออกของจีนที่ตกต่ำลงในเดือนมิถุนายนเป็นปัจจัยที่สร้างแรงกดดันต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีน ซึ่งมีระบบเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก การส่งออกของจีนเดือนมิ.ย.ตกลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 3.1% แตะที่ระดับ 1.7432 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่ปริมาณการนำเข้าลดลง 0.7% เมื่อเทียบกับปีก่อน แตะที่ระดับ 1.4719 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
แบงก์ ออฟ คอมมิวนิเคชั่น ระบุว่า ปัจจัยชี้วัดทางเศรษฐกิจหลักๆของจีน อาทิ การใช้พลังงาน การขนส่งสินค้าทางรถไฟ และการเติบโตด้านสินเชื่อ ลดลงในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา โดยไม่มีสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจนในภาคเศรษฐกิจ ธนาคารจึงปรับลดคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนในช่วงไตรมาสที่ 2 ลง 0.2% มาอยู่ที่ระดับ 7.5%
ทั้งนี้ บริษัท ไชน่า อินเตอร์เนชั่นแนล แคปิตอล คอร์เปอเรชั่น (CICC) ก็ได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของจีดีพีในไตรมาส 2 ลงด้วยเช่นกัน โดยปรับลดลงมาอยู่ที่ 7.5% และชี้ว่า การที่ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ลดลงอย่างต่อเนื่อง จะเป็นปัจจัยที่จำกัดการเติบโตของการลงทุนในภาคการผลิตทั้งในด้านสินทรัพย์ถาวร และสินค้าคงคลัง
ธนาคารยังระบุด้วยว่า การลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์ และครงสร้างพื้นฐานจะถูกจำกัด เนื่องจากการจัดหาเงินทุนหมุนเวียนไม่เพียงพอ ซึ่งเป็นผลมาจากความพยายามบังคับใช้มาตรการควบคุมธนาคารเงา และค่าเงินหยวนที่แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะจำกัดการเติบโตของการส่งออก
นักวิเคราะห์เชื่อมั่นว่า เศรษฐกิจจีนไม่มีแนวโน้มที่จะแสดงสัญญาณการฟื้นตัวในช่วงไตรมาส 2 เนื่องจากรัฐบาลจีนระงับการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ
รัฐบาลจีนได้ตอกย้ำในหลายโอกาสว่า จีนอยู่ในช่วงเวลาที่ต้องพึ่งพาการปฏิรูปทางเศรษฐกิจ และยกระดับเพื่อให้การพัฒนาเศรษฐกิจดำเนินไปได้ด้วยดีอย่างต่อเนื่อง สำนักข่าวซินหัวรายงาน