"ที่ผ่านมาผู้บริโภคยังคงไม่เข้าใจว่าเหตุใดค่าบริการในระบบ 3G ยังไม่ปรับลดลง 15% ตามที่ กสทช. ได้กำหนดไว้ ข้อเท็จจริงคือ การปรับลดค่าบริการนั้นจะปรับลดให้เฉพาะผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G ใหม่ บนคลื่นความถี่ 2.1 GHz เท่านั้น ดังนั้นผู้บริโภคที่ใช้บริการ 2G หรือ 3G ในสัมปทานเดิมของ AIS บนคลื่นความถี่ 900 MHz และทางทรูมูฟบนคลื่นความถี่ 850 MHz และ 1800 MHz จะไม่ได้รับส่วนลดในครั้งนี้" นายฐากูร กล่าว
อย่างไรก็ตาม จากการพูดคุยกับผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ก็มีความเป็นไปได้ที่อาจจะมีการปรับลดค่าบริการในระบบเดิมลงได้บ้าง ซึ่งคงต้องเป็นไปตามกลไกตลาด
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบไปยังผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ตามข้อร้องเรียนจากผู้บริโภค พบว่าปัจจุบัน บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส(ADVANC) มีเลขหมายในระบบ 40 ล้านเลขหมาย แต่มีเลขหมายที่ย้ายไปบริษัทในเครือ คือ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด(AWN) ที่ได้รับใบอนุญาตให้บริการบนโครงข่ายย่าน 2.1 GHz(3G ใหม่) เพียง 2 ล้านเลขหมายเท่านั้น
ส่วนบริษัทลูกของ บมจ.ทรูคอร์ปอเรชั่น(TRUE) ที่ได้รับใบอนุญาตให้บริการบนโครงข่ายย่าน 2.1 GHz(3G ใหม่) คือ บริษัท เรียล ฟิวเจอร์ จำกัด (RF) มีเลขหมายที่ย้ายมาใช้บริการเพียง 1,000 กว่าเลขหมาย จากทั้งหมด 18 ล้านเลขหมายที่เป็นผู้ใช้บริการของบริษัท ทรูมูฟ จำกัด และบริษัท เรียลมูฟ จำกัด ขณะที่บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด(DTN)ที่ได้รับใบอนุญาตให้บริการบนโครงข่ายย่าน 2.1 GHz(3G ใหม่) ในเครือ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น(DTAC) แจ้งว่าจะให้บริการเชิงพาณิชย์ช่วงเดือน ก.ค.56
กสทช.ได้ติดตามตรวจสอบอัตราค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ย่านความถี่ 2.1 GHz(อัตราค่าบริการ 3G ใหม่) อย่างต่อเนื่อง เพื่อกำกับดูแลให้เป็นไปตามเงื่อนไขการให้ใบอนุญาต เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่ ทั้งนี้หากผู้บริโภคไม่ได้รับความเป็นธรรมในการปรับลดอัตราค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ย่านความถี่ 2.1 GHz (3G ใหม่) หรือปัญหาคุณภาพสัญญาณโทรศัพท์ สามารถร้องเรียนมาได้ที่ คอลเซ็นเตอร์ สำนักงาน กสทช. 1200 หรือ SMS 1200 หรือ เว็บไซต์สำนักงาน กสทช.