รมว.เกษตรฯสั่งตั้งคกก.ตรวจสอบสต็อกยาง-วิเคราะห์ต้นทุน ตั้งเป้าแก้ปัญหาราคา

ข่าวเศรษฐกิจ Friday July 12, 2013 16:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยในโอกาสปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนาเรื่อง"การลดต้นทุนการผลิต การเพิ่มผลผลิตของยางไทยเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน"ว่า แม้ว่าประเทศไทยจะส่งออกยางพาราได้เป็นสินค้าอันดับหนี่งของประเทศ โดยปีที่แล้วมีปริมาณการส่งออกยางพาราถึง 3.2 ล้านตัน แต่เมื่อพิจารณามูลค่ากลับลดลงกว่าปกติ และราคายางปัจจุบันยังไม่มีทิศทางที่จะปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นสอดคล้องกับราคาน้ำมัน จึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องมาร่วมกันพิจารณาถึงสาเหตุที่เกิดขึ้น

แต่ทั้งนี้ จากการประเมินเบื้องต้นน่าจะมาจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศผู้นำเข้าหลัก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา กลุ่มสหภาพยุโรป และจีน ที่ยังฟื้นตัวช้าหรือยังทรงตัวอยู่ จึงยังคงทำให้มีปริมาณสต็อกยางเก่าค้างอยู่ ขณะที่ในส่วนของสต็อกภายในประเทศที่ยังไม่ทราบถึงปริมาณที่ได้ชัดก็ได้สั่งการให้ปลัดกระทรวงเกษตรฯตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 1 ชุดเพื่อตรวจสอบปริมาณยางในสต็อกโดยเร่งด่วนแล้วรวมถึงมาตรการในการระบายสต็อกยางจะเป็นอย่างไรก็ต้องเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณากันต่อไป

อย่างไรก็ตาม แนวทางการแก้ไขปัญหาราคายางที่กระทรวงเกษตรฯ จะเข้ามาดำเนินการเป็นอันดับแรก คือ การคิดต้นทุนการผลิตยางที่ชัดเจน เพื่อให้ราคายางพารามีเสถียรภาพที่แท้จริงเป็นตามกลไกตลาด ซึ่งหากความต้องการของตลาดมากกว่าปริมาณการผลิตราคายางก็อาจจะสูงถึง 150 บาท/กก.ก็เป็นได้ "ถ้าเรายังติดประเด็นที่การกำหนดราคายางเป็นตัวตั้ง โดยไม่นำปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ เช่น ภาวะเศรษฐกิจโลกมาพิจารณาจะทำให้ไม่สามารถแก้ปัญหาด้านราคาได้ แต่กลับจะสร้างปัญหาใหม่ขึ้น ดังนั้น ผู้เกี่ยวข้องจะต้องร่วมกันหาข้อเท็จจริงให้ได้ว่าต้นทุนของการผลิตยางอยู่ที่ไหนแล้วราคาที่เกษตรกรอยู่ได้เป็นเท่าไหร่ ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องคุยกันอย่างจริงจังโดยมีเกษตรกรเข้ามามีส่วนร่วม ทั้งในด้านการบริหารจัดการตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยเฉพาะการส่งเสริมการแปรรูปยางภายในประเทศ

ทั้งที่ประเทศไทยมีศักยภาพพร้อมในหลายๆ ด้านที่น่าจะมีการลงทุนด้านการแปรรูปยางในประเทศ แต่บริษัทใหญ่ๆ กลับไปลงทุนที่ประเทศเพื่อนบ้าน เช่น กัมพูชา เวียดนาม เป็นต้น จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน และเกษตรกรที่จะร่วมกันพัฒนาตัวเอง เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตโดยนำเทคโนโลยีต่างๆ มาใช้เพื่อลดต้นทุนการผลิต ผลักดันตลาดส่งออก เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางยางพาราของอาเซียนตามยุทธศาสตร์ยางที่กำหนดไว้ให้ได้" นายยุคล กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ