นอกจากนี้ เอเชียเป็นภูมิภาคที่มีการส่งออกยางสูงถึง 75% ของการส่งออกยางทั้งโลก โดยไทย อินโดนีเซีย และเวียดนาม คือ 3 ประเทศผู้ส่งออกรายใหญ่ โดยไทยเป็นผู้ส่งออกยางแผ่นและเป็นผู้ส่งออกน้ำยางข้นเบิอร์ 1 ขณะที่ญี่ปุ่นและจีนคือคู่ค้ารายใหญ่ของไทยทั้งในอดีตที่ผ่านมาและจะยังเป็นคู่ค้าที่ดีในอนาคต
"มองว่าอนาคตยางแผ่นและน้ำยางข้นของเราไม่ลำบาก ถือเป็นจุดแข็งของไทย เราสามารถเป็นผู้กำหนดราคาขายได้ ถ้ารัฐบาลมองเห็นจุดแข็งตรงนี้ และควรประกาศให้ทั่วโลกรู้ถึงความสำคัญนี้"นายวรเทพ กล่าว
นายวรเทพ ยังแนะนำว่า ถ้าจะสู้ใน AEC ต้องรีบโค่นยางเก่าทิ้งให้หมด และปลูกยางสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งเวลานี้ประเทศเพื่อนบ้านปลูกยางพันธุ์ใหม่ล่วงหน้าเราไปแล้วประมาณ 3 ปี
"ถ้าเรารีบปลูกยางใหม่ตอนนี้ยังทัน ยังสู้ได้ แต่ถ้ายืนต้นยางเก่าเอาไว้ รอให้หมดอายุไปเองแล้วปลูกใหม่ อาจจะโตไม่ทัน เราก็จะเสียเปรียบในการแข่งขันและการทำตลาด"
ขณะที่นายธนิต โสรัตน์ เลขาธิการ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) จะต้องส่งเสริมนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติ ซึ่งมีเทคโนโลยีการผลิต และมีตลาดรองรับ หากเป็นอุตสาหกรรมต่างชาติ จะต้องมีเงื่อนไขการถ่ายโอนเทคโนโลยีให้กับคนไทย ต้องมีการให้ทุนวิจัยในการนำยางมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ ทั้งด้านอุตสาหกรรมต่อเนื่อง หรือการใช้ในบ้าน และหรือด้านโครงสร้างพื้นฐาน หรือเพื่อการชลประทาน กำหนดอุตสาหกรรมตัวอย่างที่เป็น Best Practice เพื่อให้เป็นสถานดูงานหรือฝึกงานของเกษตรกรสวนยาง และหรือลูกหลานเกษตรกร
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ประเทศไทยขาดการบูรณาการคลัสเตอร์ยาง ขาดการเชื่อมโยงและไม่เอื้อซึ่งกันและกัน ระหว่างชาวสวนยาง-การแปรรูปยางเชิงวัตถุดิบ และอุตสาหกรรมแปรรูปผลิตภัณฑ์ยาง โดยโครงสร้างการผลิตยังเป็นแบบต่างคนต่างทำ การขาดยุทธศาสตร์แปรรูปผลิตภัณฑ์ยางเป็นวาระแห่งชาติ ประเทศไทยขาดทิศทางการพัฒนายกระดับอุตสาหกรรมยางและขาดการวางยุทธศาสตร์อย่างเป็นระบบในการแปรรูปยางดิบไปเป็นผลิตภัณฑ์ยางเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มจากผลิตภัณฑ์ยาง ขาดการสนับสนุนทั้งด้านเทคโนโลยีการผลิต และเชิงการตลาดในการเพิ่มมูลค่ายางธรรมชาติ ไปสู่อุตสาหกรรมแปรรูปผลิตภัณฑ์ยาง (ปัจจุบันยังอยู่ในระดับ OTOP วิสาหกิจชุมชน) การพัฒนาแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางยังอยู่ในเชิงเกษตรกรชาวสวนยาง มากกว่าการพัฒนาไปสู่การพัฒนาเชิงพาณิชย์
ด้านนายปรีดี ลีลาเศรษฐวงศ์ ที่ปรึกษาสมาคมน้ำยางข้นไทย กล่าวว่า ควรส่งเสริมความร่วมมือชาติอาเซียนให้มียุทธศาสตร์ยางร่วมกัน, ปรับปรุงกฎหมายยาง เงิน CESS ให้สามารถแข่งขันได้, ส่งเสริมการรวมกลุ่มเกษตรกร และขึ้นทะเบียนเกษตรกรทั่วประเทศ , จัดทำโซนนิ่งยางเพื่อให้มีศักยภาพการผลิตสูงขึ้น, จัดทำต้นทุนการผลิตยางของเกษตรกร ให้เป็นที่ยอมรับได้ทุกฝ่าย และส่งเสริมสวัสดิการสังคมแก่เกษตรกร ผู้ได้รับผลกระทบราคายางตกต่ำ
ส่วนนายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานสภาการยางพาราแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เวลานี้ชาวสวนยางรู้สึกน้อยใจรัฐบาลที่ละเลยการดูแลปัญหาราคายางตกต่ำ ความสำคัญกับเรื่องนโยบายการรับจำนำข้าวทั้งๆที่ยางทำรายได้ให้กับประเทศปีละ 6 แสนล้านบาท ขณะที่ข้าวทำรายได้ให้ประเทศเพียงปีละ 1 แสนล้านบาทเท่านั้น
"เข้าใจว่าปัญหาที่เกิดขึ้นกับสินค้าข้าวเป็นผลมาจากการบริหารงานที่ผิดพลาด เปิดช่องทุจริต ไม่โปร่งใส รัฐบาลก็ต้องเข้ามาดูแลแก้ปัญหา แต่ยางก็ไม่ควรละเลย ยิ่งใกล้จะเปิด AEC ด้วยแล้ว แต่การจัดการสินค้าเกษตรที่เกี่ยวกับยางยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ต้นทุนการผลิตของเกษตรกรยังสูง ถ้าเราไม่รีบทำอะไรตอนนี้เกรงว่ายางไทยจะเสียเปรียบชาติอื่นๆ"นายอุทัย กล่าว
อีกทั้งการเก็บเงินสงเคราะห์การทำสวนยาง (CESS) ในอัตรา 5 บาท/กก. ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างอินโดนีเซีย เวียดนาม ลาว พม่า กัมพูชา ไม่มีการเรียกเก็บเงิน CESS แต่อย่างใดจะยิ่งทำให้ไทยเสียเปรียบ
"เรื่องเงิน CESS เราพูดกันมานานมากแต่ก็ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ถือเป็นการถ่วงความเจริญในการพัฒนาอุตสาหกรรมยางไทยอย่างมาก"นายอุทัย กล่าว
นายอุทัย กล่าวต่อว่า ขณะนี้เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมในการนำเสนอแผนพัฒนายางพาราครบวงจรปี 2557-2561 ต่อเนื่องจากยุทธศาสตร์พัฒนายางพารา พ.ศ.2552-2556 ประกอบกับปี 2558 ประเทศไทยเป็น 1 ใน 10 ประเทศที่จะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) การกำหนดยุทธศาสตร์ด้านยางพาราของประเทศไทย ซึ่งเป็นการระดมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วนทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ จะทำให้เห็นทิศทางในเรื่องการผลิต การส่งออกและการบริโภคภายในประเทศ รวมถึงปัญหาอุปสรรคต่างๆชัดเจนขึ้น