"หากช่วงเวลาที่เหลือจัดเก็บได้ 5 แสนล้านก็เกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ แต่หากจัดเก็บได้ 4.2 แสนล้านก็เป็นไปตามเป้าหมาย โอกาที่จะจัดเก็บได้สูงกว่าเป้าก็มี" นายกิตติรัตน์ กล่าวทางรายการรัฐบาลยิ่งลักษณ์พบประชาชน
โดยรายได้ดังกล่าวมาจาก 2 กลุ่มหลัก คือ รายได้ที่จัดเก็บจาก 3 หน่วยงานภาษี ทั้งกรมสรรพากร, กรมสรรพสามิต และกรมศุลกากร ทำได้ดีกว่าเป้าหมาย 4.8 หมื่นล้านบาท โดยกรมสรรพากร และกรมสรรพสามิต เก็ยรายได้ดีกว่าเป้าหมาย เฉลี่ยหน่วยงานละ 2.4 หมื่นล้านบาท ส่วนกรมศุลกากรเสมอตัว ซึ่งก็เป็นเรื่องดี เพราะแสดงว่าไม่ได้มีการนำเข้ามากกว่าที่คิดวางแผนไว้ ส่วนรายได้อีก 3.4 หมื่นล้านบาทมาจากรัฐวิสาหกิจ และที่เหลือรายได้สัมปทาน เช่น สัมปทานปิโตรเลียม สัมปทานคลื่นความถี่
การจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพากรในส่วนที่มาจากภาษีเงินได้นิติบุคคลต่ำกว่าเป้าหมายคือ 2.4 หมื่นล้าน เพราะวางเป้าหมายไว้สูงเกิน แต่ก็ยังขยายตัวสูงกว่าปีก่อนร้อยละ 10
"เป็นการทำงานที่ไม่ง่าย เพราะภาษีที่เราคิดเป็นภาษีเงินได้ผลประกอบการจากปีปฎิทินปีงบประมาณ 2555 ซึ่งก็เป็นปีที่เราเพิ่งผ่านพ้นจากปัญหาน้ำท่วม และมีการปรับฐานภาษีจากร้อยละ 30 เหลือร้อยละ 23 แต่กระนั้นก็ตามเรายังสามารถจัดเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าสามารถจัดเก็บจากฐานภาษีที่กว้างขึ้นท่ามกลางอัตราที่ลดลง แม้ว่าตัวเลขจะลดลงแต่ถือว่าทำได้ดี" นายกิตติรัตน์ กล่าว
ส่วนภาษีบุคคลธรรมดายังจัดเก็บได้เพิ่มขึ้น โดยมีตัวเลขอยู่ที่ 2.4 หมื่นล้านบาท เพราะรายได้จากบุคคลธรรมดามีตัวเลขรวมเพิ่มขึ้น และยังไม่ได้ปรับลดอัตราภาษี ซึ่งในส่วนนี้จะมีการดำเนินการขั้นถัดไป โดยมีการซอยบันไดภาษีทำให้บุคคลธรรมดามีภาระภาษีลดลง ขณะที่มูลค่าเพิ่มใกล้เคียงเป้าหมาย โดยภาษีสินค้านำเข้าจัดเก็บลดลง สินค้าที่ผลิตในประเทศจัดเก็บเพิ่มขึ้น ส่วนภาษีมูลค่าเพิ่มจากปิโตรเลียมและภาษีสินค้าเฉพาะทำได้ดีมีรายได้สูงกว่าเป้า
นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า กรณีที่เฟดยังดำเนินมาตรการ QE ต่อไปนั้นเป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์ในระยะสั้น เพราะหากยาวนานไปจะส่งผลเสียมากกว่า ซึ่งไม่ว่าเร็วหรือช้าสหรัฐก็คงต้องชะลอมาตรการดังกล่าวเมื่อเห็นว่าสถานการณ์เศรษฐกิจกลับคืนสู่ภาวะปกติ