สำหรับปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้ ประกอบด้วย ความตึงเครียดทางการเมืองในอียิปต์หลังประธานาธิบดีชั่วคราว นาย อัดลี มันซูร์ ขอเวลา 6 เดือนที่จะร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หลังกองทัพอียิปต์ยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน รวมทั้งออกกฤษฎีกากำหนดกรอบเวลาจัดการเลือกตั้ง เพื่อส่งให้ประชาชนลงประชามติภายใน 4 เดือน จากนั้นจะเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรภายในต้นปีหน้าแล้วตามด้วยการเลือกตั้งประธานาธิบดี
ติดตามการแถลงนโยบายการเงินรอบครึ่งปีที่ผ่านมาจากธนาคารกลางสหรัฐฯ ต่อคณะกรรมาธิการภาคการเงินของสภาคองเกรซ ซึ่งอาจกล่าวถึงแนวโน้มการชะลอแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ(QE)ว่าจะเป็นไปตามที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเริ่มการชะลอตัวในเดือน ก.ย.หรือไม่ รวมทั้งรายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐฯ หรือ Beige Book ในวันที่ 17 ก.ค.นี้
การประชุมของรัฐมนตรีคลังของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ จี20 ช่วง 19-20 ก.ค.นี้ที่ประเทศรัสเซีย ซึ่งจะหารือถึงนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมหากสหรัฐฯ ตัดสินใจลดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจริง รวมถึงแนวทางความร่วมมือเพื่อรองรับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น
ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังของสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มปรับตัวลดลง หลังสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐฯ รายงานปริมาณน้ำมันดิบปรับลดลงราว 20 ล้านบาร์เรล ในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา รวมทั้งอุปสงค์น้ำมันเบนซินของสหรัฐฯ ที่ขยายตัวร้อยละ 2.5 ตามฤดูกาลท่องเที่ยวที่กระตุ้นอุปสงค์ในประเทศ
พร้อมทั้ง จับตาตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2/56 ของจีนที่จะประกาศในวันที่ 15 ก.ค.โดยนักวิเคราะห์คาดว่าจะขยายตัวเพียง 7.5% จากไตรมาสก่อนหน้าที่ 7.7% หลังตัวเลขเศรษฐกิจของจีนที่ประกาศล่าสุดออกมาต่ำกว่าคาด ล่าสุดรายงานการนำเข้า-ส่งออกเดือน มิ.ย.ปรับตัวลดลง 3.1% ซึ่งจะส่งผลกดดันความต้องการใช้น้ำมันของจีนและทำให้อุปสงค์น้ำมันโลกชะลอตัวลง อย่างไรก็ดี หากจีดีพีของจีน ประกาศออกมาต่ำกว่าความคาดหมาย อาจส่งผลให้มีการเทขายเพื่อทำกำไรในระยะสั้นได้