ยุทธศาสตร์ 3Gs ซึ่งเป็นกรอบยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนการดำเนินภารกิจของ กนอ. ในระยะ 3 ปีข้างหน้า (2557-2559) ให้บรรลุเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ที่กำหนด ซึ่งประกอบด้วย Green Strategyการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนของภาคอุตสาหกรรม เป็นการพัฒนายกระดับนิคมฯ สู่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ภายใต้หลักเกณฑ์ 5 มิติ 22 ด้าน ตามนโยบายเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ
Growth Strategy การเติบโตอย่างยั่งยืน การขยายพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมเพื่อรองรับความเจริญเติบโตของภาคอุตสาหกรรม และเป็นกลไกสำคัญของภาครัฐในการบริหารจัดการและพัฒนาอุตสาหกรรมออกไปสู่ภูมิภาค เพื่อรองรับกลุ่มอุตสาหกรรมที่เติบโตขึ้นเรื่อยๆ
และสุดท้าย Great Strategy เป็นการยกระดับการให้บริการ และนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ ซึ่งที่ผ่านมา กนอ. ได้มุ่งเน้นยกระดับนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศสู่การเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศซึ่งก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มและสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ที่ตอบสนองนโยบายประเทศและกระแสการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เช่น การบริหารการกำจัดกากและของเสียที่เกิดจากอุตสาหกรรม ตลอดจนการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของนิคมอุตสาหกรรมในประเทศไทยได้อย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพ
นายวิฑูรย์ กล่าวต่อว่า ปัจจุบัน กนอ.มีนิคมอุตสาหกรรม ทั้งหมด 48 แห่ง ใน 15 จังหวัด แบ่งเป็นพื้นที่รวมทั้งสิ้น 144,679 ไร่ มีมูลค่าการลงทุนรวม 2,722,985 ล้านบาท มีการจ้างงาน 530,601คน มีจำนวนผู้ประกอบการทั้งหมด 4,082 ราย ใน 3 ปี ต่อจากนี้ กนอ. ได้วางแผนในการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมภายใต้ Cluster Base 6 กลุ่ม เพื่อจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม อันได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมอากาศยานและศูนย์ซ่อมอากาศยาน, นิคมอุตสาหกรรม Plastic Park, นิคมอุตสาหกรรมบริหารจัดการของเสียครบวงจร, นิคมอุตสาหกรรม SMEs ,นิคมอุตสาหกรรมสื่อบันเทิงครบวงจร และนิคมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการ
ทั้งนี้ ในด้านการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมภายใต้ Area Base วางแผนในการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงกับระเบียงเศรษฐกิจเช่น นิคมอุตสาหกรรมเชียงของ และนิคมอุตสาหกรรมพุน้ำร้อน เป็นต้น รวมถึงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่เป้าหมาย 8 จังหวัด ซึ่งได้แก่ อุดรธานี ขอนแก่น นครพนม สกลนคร มุกดาหาร อุบลราชธานี นครราชสีมา และหนองคาย ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มพื้นที่อุตสาหกรรมใหม่รองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน