"หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สนับสนุนนโยบายรัฐบาลที่จะลงทุน 2 ล้านล้านบาท เพื่อเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศเพื่อเชื่อมโยงการคมนาคมขนส่งกับประเทศเพื่อนบ้าน และลดต้นทุนการขนส่ง โดยปัจจุบันไทยใช้การขนส่งทางถนนมากถึง 86% ของการขนส่งทั้งระบบ ส่วนทางน้ำมี 12% และทางราง 2% เท่านั้น ส่งผลให้ต้นทุนด้านโลจิสติกส์ของไทยอยู่ที่ 15.2% ของจีดีพี หรือประมาณ 1.75 ล้านล้านบาท ซึ่งเทียบกันแล้วไทยสูงกว่าทั้งสหรัฐฯ และญี่ปุ่น" นายอิสระ กล่าว
ทั้งนี้ แนวทางหนึ่งที่จะช่วยให้การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งดังกล่าวเกิดความโปร่งใสและเป็นที่ตรวจสอบได้นั้น เห็นว่าจำเป็นต้องมีการจัดตั้งองค์กรใหม่ขึ้นมา เพื่อบริหารจัดการโครงการดังกล่าว เพราะการจะใช้หน่วยงานภาครัฐที่มีอยู่ในปัจจุบันมาดูแลโครงการนี้อาจจะไม่มีบุคลากรเฉพาะด้านที่มีความเชี่ยวชาญมากพอ โดยเฉพาะกับการเข้ามาบริหารจัดการโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง(ไฮสปีดเทรน) ประกอบกับโครงการนี้มีเม็ดเงินลงทุนสูงถึง 2 ล้านล้านบาทด้วยจึงยิ่งมีความจำเป็นต้องตั้งเป็นองค์กรขึ้นใหม่เพื่อให้สามารถตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณการลงทุนได้อย่างโปร่งใส
"ถ้าใช้องค์กรเดิมๆ มาดูแลก็คงไม่ทันสมัย เพราะโครงการนี้เงินเยอะมาก เพราะฉะนั้นต้องมีผู้เชี่ยวชาญพิเศษเข้ามาดูแล การจัดการบุคลากรต้องทันสมัย มีการฝึกอบรมเฉพาะทาง และต้องมีหน่วยงานติดตามความเสี่ยงต่างๆ เพราะเป็นการลงทุนที่สำคัญอย่างมากโดยเฉพาะโครงการรถไฟความเร็วสูง คงต้องไปดูตัวอย่างจากประเทศที่พัฒนาแล้วเป็นเกณฑ์ ซึ่งการบริหารองค์กรจะต้องมีความเป็นมืออาชีพ" ประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าว
พร้อมฝากไปถึงรัฐบาลด้วยว่า ก่อนที่ร่าง พ.ร.บ.กู้เงินเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง วงเงิน 2 ล้านล้านบาท จะมีผลบังคับใช้และเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมนั้น ในระหว่างนี้ รัฐบาลโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรต้องศึกษาข้อมูลแต่ละโครงการลงทุนให้ชัดเจนก่อนที่จะเปิดประมูล และควรให้ผู้ที่มีส่วนได้เสียได้มีส่วนร่วมในการรับฟังความคิดเห็นโครงการ รวมทั้งจัดทำผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาโครงการต้องสะดุดเหมือนเช่นโครงการบริหารจัดการน้ำวงเงิน 3.5 แสนล้านบาท
ด้านนายภูมินทร์ หะรินสุต รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย มีข้อเสนอแนะต่อร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวของรัฐบาลใน 3 ด้าน ประกอบด้วย 1.โครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง 2.ด้านการบริหารจัดการของภาครัฐ และ 3.การเตรียมความพร้อมของบุคลากรและการถ่ายทอดเทคโนโลยี
โดย 1. เรื่องของโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งนั้น มองว่าการก่อสร้างรถไฟรางคู่ ควรเป็นโครงการที่ได้รับความสำคัญสูงสุดและถือเป็นเรื่องเร่งด่วนเพื่อตอบสนองยุทธศาสตร์ของประเทศในการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน และคุณภาพชีวิตของประชาชน ได้ประโยชน์ทั้งกับสินค้าและผู้โดยสาร อีกทั้งขอให้คำนึงถึงความปลอดภัยในจุดที่ทางรถไฟตัดกับถนน เพื่อความปลอดภัยของประชาชน เพราะความเร็วรถไฟเพิ่มขึ้นแต่ระบบการกั้นรถไฟยังมีความเสี่ยงอยู่
ขณะที่การขนส่งทางน้ำนั้น หลายโครงการขาดการวิเคราะห์ด้านอุปสงค์ (Demand) ที่เหมาะสม จึงใช้ประโยชน์ได้ไม่ดีเท่าที่ควร อาทิ ท่าเรือระนอง ท่าข้าวกำนันทรง จังหวัดนครสวรรค์ ท่าเรือที่อำเภอท่าเรือ จังหวัดอยุธยา เป็นต้น จึงควรศึกษาด้านอุปสงค์ให้รอบคอบ นอกจากนี้ การขาดการดูแลการขนส่งทางลำน้ำและชายฝั่งอย่างจริงจัง ทำให้การพัฒนาการขนส่งชายฝั่งไม่ต่อเนื่อง โดยพิจารณาอัตราค่าภาระสำหรับเรือชายฝั่งที่เหมาะสมเพื่อให้สามารถแข่งขันกับรูปแบบการขนส่งทางถนนได้ รวมทั้งเปลี่ยนเงื่อนไขการให้สัมปทานแก่ผู้ประกอบการที่จะเข้ามาดำเนินการท่าเรือของรัฐ โดยให้เรียกเก็บค่าภาระที่ต่ำที่สุดแทนการให้ผลตอบแทนแก่ภาครัฐสูงสุด เพื่อลด Supply Chain Cost ลง
สำหรับการขนส่งทางท่อนั้น เสนอให้เพิ่มความสำคัญการขนส่งในระบบท่อ ซึ่งยังไม่ได้รวมอยู่ในโครงการฯ เนื่องจากมีความปลอดภัยสูง ลดมลภาวะต่อสภาพแวดล้อมได้มากกว่า และมีต้นทุนค่าขนส่งต่ำ เมื่อเทียบกับการขนส่งในรูปแบบอื่นๆ
ส่วนโครงการรถไฟความเร็วสูง เห็นว่าควรต้องศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมถึงผลประโยชน์ที่ประเทศพึงได้รับอย่างถี่ถ้วนและควรคำนึงถึงความพร้อมในการเชื่อมโยงระบบเข้ากับประเทศต่างๆ ในภูมิภาค เพื่อรองรับการเติบโตของเศรษฐกิจในอนาคต 2. ด้านการบริหารจัดการของภาครัฐนั้น เสนอให้มีการจัดตั้งองค์กรมาบริหารจัดการโครงการ 2 ล้านล้าน เนื่องจากหน่วยงานภาครัฐในปัจจุบัน ยังไม่มีความคล่องตัวในการบริหารจัดการโครงการขนาดใหญ่ อีกทั้งเป็นการลงทุนที่อยู่นอกระบบงบประมาณ ทำให้ยากในการตรวจสอบและควบคุม จึงควรมีองค์กรกลางทำหน้าที่ติดตาม การใช้จ่ายงบประมาณลงทุนให้เป็นไปอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้
นอกจากนี้ควรมีการปรับปรุงกฎหมายและกฎระเบียบ เรื่องขนส่งสินค้าและการค้าขายผ่านชายแดน ให้มีความคล่องตัวเพื่อรองรับการเชื่อมโยงในภูมิภาคของโครงการ 2 ล้านล้านบาท เนื่องจากโครงการนี้ยังไม่ได้รวมงบประมาณค่าบำรุงรักษา ซ่อมแซม (Maintenance) ดังนั้นรัฐบาลควรคำนึงถึงงบประมาณสำหรับของโครงการนี้ให้รอบคอบ
3. ด้านการเตรียมความพร้อมของบุคคลากร และการถ่ายทอดเทคโนโลยีนั้น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง เพื่อการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเรื่องรถไฟรางคู่ รถไฟฟ้า และรถไฟความเร็วสูง ต้องมีการพัฒนาบุคลากรให้เพียงพอในการบริหารงาน สำหรับการดำเนินโครงการขนาดใหญ่ โดยให้สถานศึกษาเตรียมการพัฒนาบุคลากรในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และจะต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการเรียนรู้ในการต่อยอดเทคโนโลยี เพื่อลดการพึ่งพาเทคโนโลยีของต่างประเทศ และเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการไทย รวมถึงการส่งเสริมการใช้ชิ้นส่วนประกอบในประเทศ (local content) เพื่อให้มีการพัฒนาในภาคการผลิตของประเทศ เช่นเดียวกับประเทศจีน และเกาหลีใต้ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในระยะยาว
"ในระหว่างที่รอการดำเนินงานร่างพ.ร.บ.โครงการดังกล่าวฯ ภาครัฐสามารถเร่งดำเนินการปรับปรุงระบบขนส่งที่มีอยู่เดิม อาทิ การปรับปรุงท่าเรือแหลมฉบัง และท่าเรือคลองเตย ด่านการค้าชายแดน รวมถึงระบบพิธีการศุลกากรให้มีความสะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับภาคการส่งออกของไทยในปัจจุบัน" นายอิสระ กล่าว