"ธีระชัย"จวกศก.แผ่วแม้รัฐใช้เงินกระตุ้นมหาศาลเหตุทุ่มประชานิยมเน้นผลระยะสั้น

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 17, 2013 11:07 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีต รมว.คลัง โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ค ระบุถึงเหตุที่เศรษฐกิจไทยยังแผ่วทั้งๆที่รัฐบาลใช้เงินกระตุ้นเศรษฐกิจไปเป็นจำนวนมากว่า การกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายประชานิยม แม้ทำให้เกิดผลเร็วแต่ไม่ต่อเนื่อง เพราะเมื่อคนที่ได้เงินนำไปใช้กินใช้เที่ยว เมื่อหมดเงินก็จะหมดกำลังซื้อ เศรษฐกิจก็จะกลับเหงาหงอย
"การกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยนโยบายประชานิยมนั้นจะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ต่อเนื่องและยั่งยืนเพียงใด...พูดง่ายๆ หากรัฐบาลใช้วิธีแจกเงินแก่ประชาชน โดยเน้นการอุปโภคบริโภค จะเกิดผลทำให้เศรษฐกิจปัจจุบันโตเร็วขึ้น ตัวเลข จีดีพี สูงขึ้น แต่ผลดีมันจะเกิดเพียงสั้นๆ" นายธีระชัย ระบุ

แต่หากรัฐบาลเน้น 2 อย่าง คือ กระตุ้นให้เอกชนมีการลงทุนมากขึ้น และ/หรือ หาทางเพิ่มประสิทธิภาพของประเทศ ก็จะเกิดผลดีต่อเนื่องเป็นระยะยาว แต่การใช้จ่ายในลักษณะนี้ รัฐบาลต้องอดทน เพราะผลที่จะเกิดต่อตัวเลขอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(จีดีพี)อาจจะล่าช้า และอาจจะไม่เป็นที่ถูกใจสมาชิกในพรรค แต่หากทำได้จุเกิดผลดีต่อประเทศมากมายมหาศาล

ดังนั้น การที่นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รมว.คลัง ในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลเน้นการกระตุ้นการอุปโภคบริโภค จึงต้องยอมรับว่าผลดีจะไม่ต่อเนื่อง เศรษฐกิจปี 55 อาจจะโตเร็ว แต่ปี 56 ก็เริ่มแผ่วลงแล้ว

พร้อมกันนั้นนายธีระชัย ยังระบุว่า เหตุผลที่เศรษฐกิจโตน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ปัจจัยแรก เพราะไปเน้นนโยบายประชานิยม ซึ่งผลไม่ต่อเนื่อง และปัจจัยที่สอง เพราะมีการตกหล่นไปเข้ามือเจ้าของโรงสี หรือนักการเมืองท้องถิ่น ฯลฯ ทำให้เงินทำงานไม่เต็มที่

โดยยกตัวอย่างข้อคิดจากคอลัมน์ในหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งที่ตั้งคำถามว่าเม็ดเงินจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจจำนวนมาก ตั้งแต่ค่าแรง 300 บาท รถยนต์คันแรก ไปจนถึงการรับจำนำข้าวทุกเม็ดที่ใช้เงินไปกว่า 6 แสนล้านบาท ซึ่งน่าจะมีเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจกว่าล้านล้านบาทหายไปไหน ทำไมจึงไม่ทำหน้าที่ตามกลไกเศรษฐกิจ หากเงินไปถึงมือประชาชนจริงด้วยกลไกเศรษฐกิจก็เชื่อเศรษฐกิจต้องโตแน่นอน แต่หากไปถึงแบบวัดครึ่งกรรมการครึ่ง กลไกเศรษฐกิจก็จะทำงานแค่ครึ่งเดียว

นอกจากนี้ นายธีระชัย ได้แนะให้แก้ไขกติกาบริหารเศรษฐกิจใหม่ โดยเพิ่มเติมกติกาเรื่องการแทรกแซงสินค้าเกษตร ควรห้ามการรับจำนำเกินราคาตลาด และควรยึดหลักเกณฑ์ 3 ข้อ คือ โปร่งใส ป้องกันทุจริต และ ตกไปถึงมือของเกษตรกรเต็มเม็ดเต็มหน่วย

ทั้งนี้ การช่วยเหลือเกษตรกรนั้นมีสองลักษณะ และแต่ละลักษณะไม่ควรดำเนินการปะปนกัน ลักษณะที่หนึ่งคือการช่วยเหลือด้านสภาพคล่อง (cash flow) ซึ่งควรใช้วิธีการจำนำ สำหรับลักษณะที่สองคือการช่วยเหลือชดเชยต้นทุน (subsidy) ซึ่งไม่ควรใช้วิธีการจำนำ

สำหรับกรณี cash flow นั้น ควรแก้ไขกติกาเพื่อห้ามมิให้รัฐบาลรับจำนำสินค้าใดเกินร้อยละ 80 ของราคาตลาด เพื่อให้มีผลเป็นการจำนำอย่างแท้จริงที่เกษตรกรจะมีโอกาสไถ่ถอนคืน ส่วนกรณี subsidy นั้น หากรัฐบาลต้องการช่วยเหลือต้นทุนของเกษตรกร ควรยังให้ทำได้ และถึงแม้หากรัฐบาลต้องการช่วยเกษตรกรสูงกว่าราคาตลาดไม่ว่าจะมากเท่าใด ก็ยังควรให้ทำได้ แต่ควรกำหนดให้รัฐบาลต้องใช้วิธีการรับซื้อแบบตรงไปตรงมาไปเลย มิให้บิดเบือนไปใช้รูปของการจำนำอีกต่อไป ซึ่งจะทำให้เกษตรกรได้เงินเต็มเม็ดเต็มหน่วยอีกด้วย

ส่วนการประมูลขายสินค้าเกษตรในสต็อกของรัฐที่รับจำนำหรือรับซื้อไว้ หากเป็นการขายแบบ G to G ควรกำหนดนิยามให้รัดกุม เพราะกฎระเบียบขณะนี้กำหนดให้รัฐบาลต้องใช้วิธีประมูลเพื่อให้ได้ราคาสูงที่สุดยกเว้นเฉพาะการขายแบบ G to G ไม่ต้องทำการประมูล โดยนิยามควรมี 3 เรื่อง คือ (ก) การทำสัญญาซื้อขาย : ต้องทำสัญญาโดยตรงระหว่างผู้ซื้อต่างประเทศกับหน่วยงานของรัฐ (ข) การชำระเงิน : ผู้ซื้อในต่างประเทศต้องเปิดแอลซีหรือจ่ายเงินตรงไปที่หน่วยงานของรัฐ และ (ค) การส่งออก : ผู้ที่ทำพิธีการส่งออกสินค้าจากประเทศไทย ต้องเป็นหน่วยงานของรัฐ หากไม่เข้านิยามนี้ต้องขายโดยวิธีการประมูลทุกกรณี

นอกจากนั้น ควรกำหนดให้รัฐบาลชดเชยผลขาดทุนจาดโครงการช่วยเหลือเกษตรกรทุกปี เพราะที่ผ่านมามีปัญหาว่ากว่ารัฐบาลจะรับรู้ตัวเลขผลขาดทุนโครงการสินค้าเกษตรนั้นก็ต่อเมื่อมีการปิดโครงการแล้วเท่านั้น แต่บางโครงการมีขั้นตอนการปิดที่ใช้เวลาเนิ่นนาน ดังนั้น การรับรู้ขาดทุนและภาระต่อรัฐจึงล่าช้าไปด้วย และตัวเลขของหนี้สาธารณะก็ยังไม่สะท้อนความเป็นจริง จึงควรกำหนดให้ ธกส. หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประเมินผลขาดทุนทุกๆ โครงการทุกสิ้นปี แล้วให้รัฐบาลชดเชยเงินตามตัวเลขดังกล่าวไปก่อนทันที แล้วค่อยปรับตัวเลขกันภายหลังเมื่อปิดโครงการเป็นทางการ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ