สำหรับสินเชื่อรายใหม่ให้เร่งปล่อยทั้งรายย่อยและรายกลาง โดยจะปรับปรุงกระบวนการอนุมัติให้เร็วขึ้น
ส่วนหนี้ NPLs จะให้โอกาสเต็มที่กับลูกค้าที่มาเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ หากไม่มาก็จำเป็นต้องใช้มาตรการทางกฎหมายตามขั้นตอน
นายมนูญรัตน์ กล่าวว่า หลังจากนี้ประมาณ 1-2 สัปดาห์หลังจากคุยกับผู้บริหารและพนักงานทุกระดับ รวมถึงสหภาพแรงงานแล้ว จะแถลงข่าวรายละเอียดแผนปฏิบัติทั้งหมดอย่างเป็นทางการอีกครั้งหนึ่ง
“จากประสบการณ์ตรงของผมที่คลุกคลีในแวดวงการเงินมากกว่า 20 ปีทั้งในองค์กรระดับสากล และยังมีประสบการณ์เข้าไปฟื้นฟูแก้ปัญหากับหน่วยงานภาครัฐ ทำให้เข้าใจและสามารถผสมผสานการบริหารงานได้ทั้งสองมิติ จึงมั่นใจว่า จะสามารถช่วย เอสเอ็มอีแบงก์ ให้ดำเนินการตามแผนฟื้นฟูของธนาคาร และบรรลุเป้าหมายได้ เพื่อพลิกฟื้นธนาคารแห่งนี้ให้กลับมาแข็งแกร่ง เป็นกลไกสำคัญของรัฐบาลในการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ต่อไป" นายมนูญรัตน์ กล่าว
อนึ่ง นายมนูญรัตน์ ปัจจุบันอายุ 56 ปี จบการศึกษาปริญญาตรี สาขาการเงินและการธนาคาร จาก San Diego State University ประเทศสหรัฐอเมริกา ผ่านประสบการณ์ด้านแวดวงตลาดเงินตลาดทุนมากกว่า 20 ปี ในองค์กรระดับสากล โดยเป็นกรรมการผู้จัดการ บลจ.ไอเอ็นจี (ประเทศไทย)ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งบริษัท และบริหารจัดการธุรกิจให้เป็นไปตามเป้าหมาย เป็นผู้บริหารบริษัทต่างประเทศ อาทิ ประธาน CONTINENTAL MONEY MARKET, San Diego, CA, U.S.A. บริษัทดำเนินธุรกิจเป็นที่ปรึกษาทางด้านการลงทุน และ ผู้ช่วยผู้จัดการ M.L.STERN SECURITIES, SAN DIEGO, CA, U.S.A. รับผิดชอบงานขายตราสารการออมเงิน
นอกจากนี้ยังเคยเป็นผู้บริหารระดับสูงฝ่ายวาณิชธนกิจที่ บงล.มหาธนกิจ ธนาคารเอเชีย และดูแลรับผิดชอบการพัฒนาธุรกิจด้านตราสารการเงิน ที่บงล.นิธิภัทร และมีประสบการณ์เป็นกรรมการผู้จัดการ บริษัท โปรเฟสชันแนล แอ๊ดไวเซอรี่ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ทำแผนฟื้นฟูให้กับบริษัทที่อยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างหนี้ รวมถึงเป็นกรรมการบริษัท ไทยซูริค ประกันภัย ซึ่งเป็นที่ปรึกษาทางด้านการลงทุน และให้คำแนะนำเกี่ยวกับสภาวะการลงทุนในตลาดทุนและตลาดเงิน
จากนั้นได้รับการร้องขอให้มาช่วยฟื้นฟูแก้ปัญหาภายในองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.)ในตำแหน่งผู้อำนวยการ ซึ่งอยู่บริหารงานจนครบวาระ ในช่วงระหว่างปี 52-54 โดยเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการกำหนดแผนการลงทุน สร้างกลไกด้านการตลาดสินค้าเกษตรเชื่อมโยงเครือข่ายกับเกษตรกร และสถาบันเกษตรกร และจัดตั้งตลาดกลางเพื่อเป็นแหล่งกลางในการซื้อขายผลผลิตทางการเกษตร