สำหรับกำลังซื้อในประเทศยอมรับว่ากำลังซื้ออ่อนลงจริง จากนโยบายภาครัฐในปีที่ผ่านมา ที่มีการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ ทำให้การกำลังซื้อภายในประเทศลดลงไป แต่อย่างไรก็ตามเชื่อว่าภาคการส่งออกของประเทศไทยจะยังหนุนเศรษฐกิจในประเทศอยู่ และโครงการภาครัฐที่จะเกิดขึ้นก็เป็นการกระตุ้นการลงทุนภายในประเทศให้เกิดขึ้น
นโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ที่ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง ส่งผลทำให้เงินบาทอ่อนค่าในทิศทางที่ช่วยสนับสนุนการส่งออกให้เติบโตขึ้น แต่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงภาคเศรษฐกิจไทยไปอย่างสิ้นเชิง ทั้งนี้ มองว่าการปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยควรให้มีความสมดุลกับสภาพคล่องในตลาด เพื่อให้เศรษฐกิจในประเทศมีความสมดุล
“จากนโยบายธนาคารแห่งประเทศไทยบางครั้งผมก็ไม่เห็นด้วย แต่การปรับลดดอกเบี้ย ทำให้ค่าเงินบาทอ่อนลง ส่งผลดีต่อภาคการส่งออก และก็ยังไม่ได้เป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพเศรษฐกิจในประเทศอย่างสิ้นเชิง การปรับลดดอกเบี้ยต้องดูให้เกิดความสมดุลกับสภาพค่อลงในตลาด ควรต้องมีการศึกษาจากโลกภายนอกให้มากพอ โดยการหาวิธีการเข้ามากระตุ้น เพื่อให้มีการสมดุลเกิดขึ้น" นายทนง กล่าว
ขณะที่ค่าเงินบาทที่ระดับ 31 บาท/ดอลลาร์ เป็นระดับที่ส่งผลดีต่อภาคการส่งออกทำให้ภาคส่งออกปรับตัวดีขึ้น ทำให้ผู้ส่งออกกล้าออกไปติดต่อค้าขายกับประเทศอื่น แต่แนะนำว่าอยากให้ค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพมากขึ้น และอย่าต่ำกว่า 31 บาท/ดอลลาร์ เพราะหากต่ำกว่า 31 บาท/ดอลลาร์ ก็จะส่งผลกระทบต่อการส่งออก
ด้านเศรษฐกิจในสหรัฐ มีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้น แต่ทางสหรัฐฯ ยังมีการประคับประคองเศรษฐกิจของประเทศอยู่ ส่วนการจะลดขนาดหรือถอนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ (QE) จะต้องรออัตราการว่างงานต่ำกว่า 7% ก่อนถึงจะมีการพิจารณาลดขนาดหรือถอนมาตรการ QE ซึ่งปัจจุบันก็ยังไม่เห็นถึงสัญญาณการว่างงานจะลดต่ำกว่า 7 %