ผู้ว่า ธปท.ระบุการพัฒนาประเทศไปข้างหน้าอย่างยั่งยืนต้องการผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ชัดเจน-กว้างไกล

ข่าวเศรษฐกิจ Friday July 19, 2013 11:50 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)กล่าวสุนทรพจน์ในหัวข้อ"Asian and Thai Economies in a Volatile World"ว่า การพัฒนาประเทศไปข้างหน้าอย่างยั่งยืนเพื่อแข่งขันในเวทีโลกต้องอาศัยผู้นำที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกลในการวางแผนระยะยาวของประเทศด้วยวิธีการที่ถูกต้อง โดยผู้กำหนดนโยบายจะต้องสามารถนำความต้องการและความจำเป็นมาพิจารณาในการปรับโครงสร้าง รวมทั้งนโยบายต่างๆ ต้องมีความต่อเนื่องในการนำไปปฏิบัติงานจริง เนื่องจากขณะนี้ประเทศไทยจำเป็นต้องเน้นการเพิ่มทักษะให้แรงงาน เพิ่มผลิตผล และนวัตกรรมใหม่ ๆ
"ความต่อเนื่องของการดำเนินนโยบายและการนำนโยบายไปใช้จริงเป็นสิ่งจำเป็นที่จะทำให้มาตรการเชิงนโยบายส่งผลต่อเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ ความสอดคล้องทั้งในเรื่องของเวลาและนโยบายเศรษฐกิจมหภาคโดยรวม เป็นสิ่งจำเป็นที่จะทำให้เกิดผลสูงสุดด้วยต้นทุนที่ต่ำที่สุด และด้วยความท้าทายและยากลำบากในการหาแนวทางเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจในทิศทางที่ถูกต้องจำเป็นต้องอาศัยผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ในการปรับเปลี่ยนเชิงโครงสร้างอย่างประสบความสำเร็จ"

"วิสัยทัศน์ที่ชัดเจนและกว้างไกลในด้านเศรษฐกิจ และความสามารถในการผสานแนวคิดเชิงยุทธศาสตร์และการปฏิบัติในระยะสั้น รวมทั้งศักยภาพในการประสานแนวคิดที่แตกต่าง เป็นลักษณะสำคัญของผู้กำหนดนโยบายที่จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง"นายประสาร กล่าว

นายประสาร กล่าวถึงสถานการณ์เศรษฐกิจในเอเชียว่า เรื่องที่น่ายินดีที่ความเสี่ยงของการชะลอตัวทางเศรษฐกิจอาจจะลดลงหรือหลีกเลี่ยงได้เช่นเดียวกับบางประเทศในเอเชียที่ดำเนินมาตรการจนประสบความสำเร็จมาแล้วในอดีต ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็จะขึ้นอยู่กับคุณภาพและกรอบเวลาของนโยบายรัฐบาลในการวางแผนจัดการกับปัญหาระยะยาวอย่างรอบคอบ ด้วยการการวางกลยุทธด้านการขยายตัวของประเทศที่มุ่งเน้นการพัฒนาด้านทักษะ นวตกรรมและศักยภาพด้านการผลิต

สำหรับภูมิภาคเอเชียถือว่าโครงข่ายที่ดี และมีอัตราการออมสูง ซึ่งเป็นประเด็นบวกที่จะทำให้มีการนำเงินมาลงทุนเพิ่มในภูมิภาคได้ เช่นเดียวกับในระดับภูมิภาคอาเซียที่มีการรวมตัวในลักษณะประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) ที่จะเป็นเครือข่ายที่จะทำให้มีการค้าขายเสรีมากขึ้น และมีการเคลื่อยย้ายปัจจัยการผลิตระหว่างกันได้ง่ายขึ้น สนับสนุนการใช้ซัพพลายเชนในระดับภูมิภาคและระดับโลก

ด้านการเพิ่มความแข็งแกร่งภาคการเงิน อาเซียนและบางประเทศในเอเชียมีความร่วมมือในรูปแบบสัญญาความตกลงมาตรการริเริ่มเชียงใหม่ไปสู่การเป็นพหุภาคี (Chiang Mai Initiative Multilateralization Agreement)จะรองรับวิกฤติด้านเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น เพื่อให้ความช่วยเหลือกันได้อย่างทันท่วงที ในระดับ AEC มองว่าประโยชน์ไม่ได้มาโดยอัตโนมัติ แต่อาเซียนต้องก้าวผ่านความแตกต่าง เพื่อทำให้ทุกประเทศมีความร่วมมือกันได้

"งานที่สำคัญคือการปรับโครงสร้างของประเทศต่างๆ ต้องมีการเจริญเติบโตที่เท่าเทียมกันมากขึ้นในกลุ่มสมาชิก ด้วยการช่วยเหลือกันเพื่อลดความแตกต่างในระดับการพัฒนา"นายประสาร กล่าว

นอกจากนั้น ความร่วมมือของภาคเอกชนมีความสำคัญมาก ไม่ว่าด้านเม็ดเงิน หรือความรู้ความชำนาญ ต้องการส่งเสริมให้ภาคธุรกิจมามีส่วนร่วมใน AEC เพื่อให้เกิดพลวัติและความเปลี่ยนแปลงในภูมิภาค การรวมตัวกันจะต้องเชื่อมโยงกันด้านนโยบายด้วย เพื่อนำมาใช้ในประเทศเพื่อพัฒนาร่วมกันไปพร้อม ๆ กัน การร่วมมือในระดับผู้นำก็สำคัญมาก

นายประสาร กล่าวอีกว่า ในสถานการณ์ความผันผวนจากเศรษฐกิจโลกไม่สามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบได้ จึงต้องเข้าใจว่าโลกที่มีความเชื่อมโยงกันอย่างมากมายเป็นอย่างไร และต้องมีนโยบายออกมาทั้งมหภาคและจุลภาคเพื่อรับมือกับความผันผวน ขณะเดียวกันต้องมองถึงโอกาสสำหรับโลกที่มีความเขื่อมโยงกันมากยิ่งขึ้น แต่มั่นใจว่าอาเซียนมีความแข็งแกร่งและจะมีอนาคตที่สดใส


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ