ครม.รับทราบแนวทางปรับปรุงการจำนำสินค้าเกษตรเน่าเสียง่ายตามข้อเสนอป.ป.ช.

ข่าวเศรษฐกิจ Friday July 19, 2013 14:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธีรัตถ์ รัตนเสวี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม.สัญจร จ.พระนครศรีอยุธยาวันนี้ ได้รับทราบข้อเสนอของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ในการแทรกแซงราคาสินค้าเกษตรเน่าเสียง่าย เช่น หอมแดง เพื่อปรับปรุงแนวทางการรับจำนำ เนื่องจากที่ผ่านมา ป.ป.ช.เห็นว่าการรับจำนำหอมแดงในจังหวัดต่างๆ ในฤดูกาลผลิตปี 54/55 องค์การคลังสินค้า(อคส.)ปล่อยปละละเลย เพราะมีเจ้าหน้าที่ประจำจุดและการเฝ้าดูแลเพียง 3 คน ซึ่งทำให้สินค้าหอมแดงเน่าเสียจนเกิดความเสียหายแก่รัฐ จึงนับว่ามีความบกพร่องอย่างร้ายแรง

ดังนั้นจึงเสนอให้รัฐบาลปรับปรุงแนวทางการแทรกแซงราคาสินค้าเกษตรเน่าเสียง่าย โดยต้องเร่งดำเนินการระบายสินค้า หรือดูแลไม่ให้เกิดปัญหาเน่าเสีย การลงทะเบียนเกษตรกร การเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูก ซึ่งสอดคล้องกันนโยบายของรัฐบาลในการจัดทำเกษตรโซนนิ่ง โดยนายกรัฐมนตรีกำชับให้ระวังการดูแลสินค้าลำไยที่กำลังจะออกสู่ตลาดในช่วงปลายปี เพื่อไม่ให้มีปัญหาซ้ำรอยเดิม

พร้อมกันนี้ได้มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ในฐานะที่กำกับดูแลอคส.ไปดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีพนักงานองค์การคลังสินค้าถูกกล่าวหาร้องเรียนว่าร่วมกันทุจริตในโครงการแก้ไขปัญหาราคาหอมแดง ฤดูการผลิตปี 2554/2555 ในจังหวัดศรีสะเกษ และหากพบว่ามีความผิดจริงตามที่ถูกกล่าวหาร้องเรียนให้ดำเนินการลงโทษตามกฎหมายอย่างจริงจัง แล้วรายงานผลการดำเนินการให้คณะรัฐมนตรีทราบโดยเร็วและอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันการทุจริตกรณีการใช้นโยบายราคาเพื่อแก้ไขปัญหาสินค้าเกษตรที่เน่าเสียเร็ว รวมทั้งมีการนำหอมแดงที่ได้รับซื้อไว้แล้วกลับมาหมุนเวียนขายให้กับทางราชการซ้ำอีก

อย่างไรก็ดี ที่ประชุมได้มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ป.ป.ช. และความเห็นของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาดำเนินการ และเมื่อได้ข้อสรุปแล้ว ให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า ป.ป.ช.ยังเสนอให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน โดยดำเนินการตามนโยบายที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภาตามนโยบายเร่งด่วนที่จะเริ่มดำเนินการในปีแรก คือ การให้เกษตรกรเข้าถึงแหล่งเงินทุน การเพิ่มประสิทธิภาพของกลไกตลาด การจัดทำระบบทะเบียนครัวเรือนเกษตรกรให้สมบูรณ์ และนโยบายหลักในการบริหารประเทศที่จะดำเนินการภายในช่วงระยะ 4 ปี ของรัฐบาลในส่วนของนโยบายปรับโครงสร้างเศรษฐกิจภาคเกษตร โดยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูก ลดต้นทุนการผลิต พัฒนาระบบการผลิตที่เป็นขั้นตอน มีการวางแผนการผลิตและการจำหน่ายล่วงหน้าที่แม่นยำ ส่งเสริมการผลิตนอกฤดูกาล การแปรรูป ส่งเสริมการตลาด และเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในตลาดโลก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ