(เพิ่มเติม) ธปท.ลดคาด GDP ปี 56 เหลือโต 4.2% ส่งออกฟื้นช้า-บริโภคต่ำ,ลุ้นปี 57 ฟื้นโต 5%

ข่าวเศรษฐกิจ Friday July 19, 2013 15:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงรายงานนโยบายการเงินฉบับเดือน ก.ค.56 ว่า ได้มีการปรับคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(จีดีพี)ในปี 56 ลงเหลือเติบโตเพียง 4.2% จากเดิมคาดว่าจะเติบโตได้ 5.1% แต่ยังเชื่อว่าปี 57 เศรษฐกิจจะฟื้นตัวขึ้นมาเติบโตได้ถึง 5%

รายงาน ระบุว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้เดิม จากภาคการส่งออกฟื้นตัวได้ล่าช้าจากแนวโน้มเศรษฐกิจจีนและเอเชียที่ชะลอลงแล้ว แรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายภายในประเทศมีแนวโน้มต่ำกว่าที่ประเมินไว้เดิมเช่นกัน การบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวน้อยกว่าประมาณการครั้งก่อน เพราะผลบวกจากมาตรการรถคันแรกหมดลงเร็วกว่าคาด ประกอบกับหนี้ภาคครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้นเริ่มเป็นข้อจำกัดต่อการบริโภคสินค้าคงทนและกึ่งคงทน

"จากการประเมินภาพเศรษฐกิจข้างต้น คณะกรรมการฯ เห็นว่าเศรษฐกิจไทยในปี 56 จะขยายตัวต่ำกว่าที่เคยคาดไว้ โดยที่ความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยโน้มไปทางด้านต่ำจากเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความเปราะบางและการใช้จ่ายในโครงการบริหารจัดการน้ำที่อาจล่าช้ายิ่งขึ้น"นายไพบูลย์ กล่าว

ธปท.ระบุว่า การบริโภคครัวเรือนในช่วงที่ผ่านมาชะลอลงชัดเจน ซึ่งเป็นการพักฐานจากก่อนหน้านี้ที่เร่งตัวขึ้นมากจากมาตรการกระตุ้นของภาครัฐ ซึ่งผลจากมาตรการกระตุ้นต่าง ๆ เหือดหายไปเร็วกว่าที่คาด ขณะที่หนี้ครัวเรือนสูงขึ้น ทำให้มีการลดทอนการใช้จ่ายสินค้าคงทนลง แต่เชื่อว่าแนวโน้มการบริโภคจะกลับมาขยายตัวได้เป็นปกติ เนื่องจากฟื้นฐานเศรษฐกิจที่ยังดีเกิดการจ้างงานเต็มที่ รายได้ประชาชนนอกภาคเกษตรขยายตัวในเกณฑ์ดี ประกอบกับนโยบายการเงินการคลังผ่อนคลาย เห็นได้จากสินเชื่อที่ขยายตัวสูง และการจัดทำงบประมาณขาดดุลต่อเนื่อง ธปท.จึงคาดว่าเศรษฐกิจในปีหน้าจะกลับมาโตได้ 5%

แต่ทั้งนี้เศรษฐกิจจะขยายตัวได้ต่อเนื่องและยั่งยืนขึ้นกับข้อจำกัดด้านแรงงาน ที่ขณะนี้เริ่มมีปริมาณไม่เพียงพอกับความต้องการ และผลิตภาพแรงงานที่ชะลอลงอาจลดทอนศักยภาพการขยายตัวของเศรษฐกิจให้เดินหน้าได้ไม่เต็มที่ ดังนั้น จึงควรมีการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและเทคโนโลยีในการผลิตให้สูงขึ้น หากอุปทานเหล่านี้ไม่ได้รับการแก้ไข เศรษฐกิจในระยะต่อไปคงขยายตัวได้ไม่ถึง 5%

สำหรับปัจจัยต่างประเทศที่มีผลต่อเศรษฐกิจไทยขึ้นกับประเทศอุตสาหกรรมหลัก โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีนที่ชะลอลง ส่งผลต่อภูมิภาค รวมถึงไทย แต่ ธปท.ก็ประเมินว่าจีนไม่ต้องการให้เศรษฐกิจเติบโตร้อนแรงเกินไป จากนี้ไปอาจจะไม่เห็นการขยายตัวที่สูงมากเหมือนในอดีต ดังนั้น เศรษฐกิจจีนทึ่คาดว่าปีนี้จะโตที่ 7.5% น่าจะเหมาะสมกับความยั่งยืนของเศรษฐกิจ

ส่วนเศรษฐกิจสหรัฐค่อนข้างทรงตัวได้ดี แนวโน้มปรับตัวดีขึ้น เห็นได้จากการจ้างงาน และเรื่องที่อยู่อาศัย แม้ทางการจะลดทอนมาตรการด้านการคลังลงไปบ้าง แต่เชื่อว่าในระยะต่อไปก็น่าจะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ขณะที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นแนวโน้มฟื้นตัวจากนโยบายเศรษฐกิจของภาครัฐ และยุโรปก็ยังทรงตัว เพราะยังต้องใช้เวลาในการฟื้นตัว ในระยะสั้นตลาดการเงินโลกอาจมีความผันผวนจากการคาดการณ์การปรับลดวงเงินการเข้าซื้อสินทรัพย์ของธนาคารกลางสหรัฐฯ ซึ่งอาจทำให้มีกระแสเงินทุนไหลออกจากประเทศตลาดเกิดใหม่

นายไพบูลย์ ระบุว่า อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มทรงตัวในระดับต่ำ โดยแรงกดดันทั้งด้านอุปสงค์และด้านต้นทุนลดลงจากที่เคยประเมินไว้ ตามการชะลอตัวของอุปสงค์ภาคเอกชน ราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์อื่นในตลาดโลกที่มีแนวโน้มลดลงจากครั้งก่อน ประกอบกับทางการได้เลื่อนการปรับขึ้นราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ออกไปอีก 2 เดือน ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ ยังคงข้อสมมติการยกเว้นการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลไว้ตลอดช่วงประมาณการ

คณะกรรมการ กนง.เห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนปรนยังมีความเหมาะสม ในการประชุมเมื่อวันที่ 9 และ 10 กรกฎาคม 2556 ประเมินว่าการชะลอตัวของอุปสงค์ในประเทศในช่วงที่ผ่านมาส่วนหนึ่งเป็นการพักฐานหลังจากที่เร่งตัวมากจากผลของมาตรการภาครัฐ จึงคาดว่าจะกลับมาขยายตัวได้ตามปกติจากปัจจัยพื้นฐานที่ยังดีอยู่และนโยบายการเงินการคลังที่ผ่อนคลาย ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจการเงินโลกอยู่ในช่วงปรับตัวและยังต้องติดตามความเสี่ยงด้านเสถียรภาพการเงินต่อไป กนง.จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ร้อยละ 2.50 ต่อปี

ในระยะข้างหน้า เศรษฐกิจไทยยังมีปัญหาเชิงโครงสร้างที่สำคัญอีกหลายประการ เช่น ระบบโลจิสติกส์ การบริหารจัดการน้ำ รวมถึงปัญหาด้านแรงงาน ซึ่งถือเป็นข้อจ่ากัดสำคัญต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจทั้งจากกำลังแรงงานของประเทศที่ไม่เพียงพอและผลิตภาพแรงงานที่ขยายตัวได้ต่ำ ซึ่งข้อจำกัดเหล่านี้เป็นปัญหาในเชิงโครงสร้างที่ต้องใช้เวลาในการแก้ไข โดยนโยบายเศรษฐกิจมหภาคต้องให้ความสำคัญกับการลดข้อจำกัดในภาคการผลิตควบคู่ไปกับการสนับสนุนการใช้จ่ายภาคเอกชน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ