จากที่ฝ่ายรัฐบาลไทยและรัฐบาลพม่าได้ลงนาม Shareholders Agreement ฝ่ายละ 50% ลงทุนฝ่ายละ 6 ล้านบาทหรือทุน 12 ล้านบาทของบริษัท ทวาย เอส อี แซด ดีเวลล๊อปเม้นท์ จำกัด เมื่อวันที่ 17 มิ.ย.ที่ผ่านมา นอกจากนี้ พม่ามีแผนนำ บริษัท SPV ในตลาดหุ้นไทย
นอกจากนี้ จะมีการจัดตั้ง SPV 2 จดทะเบียนในเมียนมาร์ ซึ่งมีหน้าที่ลงทุน ขณะที่ SPV1 ที่จดทะเบียนในไทย ทำหน้าที่ประสานงาน ให้การสนับสนุนการบริหารจัดการโครงการทวายในภาพรวมรวมทั้งให้คำปรึกษา เชิญชวนและคัดเลือกผู้ลงทุนเข้ามาพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายและเป็นผู้ถือหุ้นใน SPV2 ซึ่งจะเป็นผู้เข้าลงทุน ใน SPC จำนวน 7 แห่งที่จะลงทุนกิจกรรมธุรกิจ ทั้งนี้ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล็อปเมนท์(ITD)จะเข้ามาลงทุนหลัก ซึ่งรอให้ บริษัท ทวาย เอส อี แซด ดีเวลล๊อปเม้นท์ จำกัด (DSEZ) ให้สัมปทานใหม่ โดยคาดว่าระยะเวลาใกล้เคียงที่ ITD เคยได้รับสัมปทาน ประมาณ 75-90 ปี ในโครงการทวาย
"พม่าพูดว่าโครงการทวาย มีความสำคัญเท่าเทียมโครงการติวาลา...พม่าไม่เชื่อว่า ITD จะทำโครงการทวายไปได้ ITD ก็ยอมลดบทบาท ให้รัฐบาลไทย ดำเนินการระดับรัฐต่อรัฐ เพื่อให้โครงการเดินหน้าได้เร็ว และพม่าจะมีการเลือกตั้งใหญ่ในปี 58 ก็อยากเห็นโครงการทวายเป็นรูปเป็นร่าง"นายอาคม กล่าว
ทั้งนี้ SPC ทั้ง 7 แห่งจะแบ่งลงทุนคือ ธุรกิจไฟฟ้า, น้ำประปา, ถนน, นิคมอุตสาหกรรมและTownship, ท่าเรือ, รถไฟ และ โทรคมนาคม โครงการท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวาย เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษตั้งอยู่เขตตะนาวศรี ประเทศเมียนมาร์มีพื้นที่ 204 ตร.กม. หรือ 124,500 ไร่ คิดเป็น 2.5 เท่าของพื้นที่อุตสาหกรรมในระยอง โครงการนี้จะเป็นประตูเศรษฐกิจและเป็นจุดแข็งในการเชื่อมโยงเมืองเศรษฐกิจในภูมิภาค กลุ่มประเทศลุ่มแท่น้ำโขง(GMS) บนระเบียงเศรษฐกิจตอนใต้