“ 7 ปีในการทำธุรกิจที่ผ่านมา พบว่า เติบโตเฉลี่ยด้วยตัวเลขสองหลักตลอดมา ล่าสุดในช่วงสองปีที่ผ่านมา (2554-2555) เติบโตที่กว่า 30% ต่อปี โดยในปี 2555 สามารถสร้างยอดขายได้ที่กว่า 50 ล้านเหรียญสหรัฐฯ พร้อมกันนี้ ได้กำหนดพันธกิจที่ท้าทายในระยะเวลา 5 ปีจากนี้ไปว่าจะต้องเติบโตที่ปีละ 25% ” นายสกล กล่าว
นอกจากนี้ มีแผนลงทุนขยายโรงงานแห่งที่ 2 ณ แขวงจำปาสัก โดยวางกำลังการผลิตไว้ที่ 10,000 ตันต่อเดือน คาดว่า จะสามารถเดินเครื่องผลิตได้ภายในปี 2557 เพื่อรองรับกำลังการผลิตที่จะขยายเพิ่มขึ้นในอีก 5 ปีข้างหน้า อีกทั้งบริษัทฯยังมีแผนขยายธุรกิจไปสู่การแปรรูปสุกร โดยจะเริ่มต้นด้วยการพัฒนาโรงชำแหละสุกรก่อน ภายในปี 2557 เช่นกัน
นายสกล กล่าวด้วยว่า การผลิตอาหารสัตว์ของบริษัทฯเน้นจำหน่ายตลาดภายในประเทศเป็นหลัก มีสัดส่วนการผลิตเพื่อป้อนเกษตรกรในโครงการส่งเสริมอาชีพของบริษัทฯ 60% และเกษตรกรทั่วไป 40% โครงการส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงสัตว์ให้แก่เกษตรกรดำเนินการมาแล้วเป็นเวลากว่า 6 ปี และนับได้ว่าประสบความสำเร็จ 100% ปัจจุบันมีครอบครัวเกษตรกรจำนวน 300 ราย แบ่งเป็น เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร 50% ไก่เนื้อ 50% โดยขณะนี้มีปริมาณแม่พันธุ์สุกรรวมจำนวนเกือบหมื่นแม่ สามารถผลิตสุกรขุนได้ ประมาณ 100,000 ตัวต่อปี คาดว่า ในปี 2557 จะสามารถผลิตเพิ่มได้อีกเท่าตัว คือประมาณ 200,000 ตัว โดยมองว่าตลาดยังสามารถเติบโตได้อีก เพราะต้องขยายการจัดจำหน่ายสินค้าไปยังแขวงอื่นๆที่ไม่ใช่เฉพาะในนครหลวงเวียงจันทร์ นอกจากนี้ยังมีแนวโน้มจำนวนนักลงทุนและนักท่องเที่ยวที่เพิ่มมากขึ้นทุกๆปี
ทั้งนี้ สปป.ลาวเป็นประเทศที่ตลาดมีขนาดเล็กกว่าเป็น 10 เท่าตัว มีประชากรเพียง 6 ล้านคน ขณะที่พื้นที่ 2 ใน 3 เป็นภูเขาและค่อนข้างทุรกันดาร ที่สำคัญยังพึ่งพาสินค้าเกษตรและปศุสัตว์จากประเทศไทยเป็นหลัก เนื่องจากนำเข้าออกง่าย การดำเนินธุรกิจจึงต้องใช้หลักการเลือกทำเลที่เหมาะสม โดยคำนึงเรื่องการขนส่งเป็นหลัก ปัจจุบันจึงเน้นที่หัวเมืองใหญ่อย่างนครหลวงเวียงจันทร์ และจำปาสักเป็นหลัก จากนั้นใช้วิธีกระจายสินค้าที่ผลิตได้ก็ออกไปตามสาขาที่อยู่ต่างแขวง
ด้านศักยภาพตลาดและกำลังซื้อ ปัจจุบันอาศัยตลาดในเมืองใหญ่ แต่สำหรับภาพรวมของทั้งประเทศหากเปรียบเทียบกับการบริโภค เช่น คนไทยบริโภคไข่ไก่ที่ 200 ฟองต่อปี ประชาชนที่สปป.ลาวบริโภคเพียง 1 ใน 3 ของไทย แต่ปริมาณการบริโภคที่น้อยดังกล่าว นับเป็นโอกาสในการสร้างการเติบโตได้อีกมาก
สำหรับการเปิดตลาดเสรีภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในอีก 2 ปีข้างหน้า นายสกล ให้ความเห็นว่า นอกจากการขยายการลงทุนในธุรกิจหลัก ได้แก่ ธุรกิจอาหารสัตว์ ธุรกิจฟาร์มเลี้ยงสัตว์ และอาหารสำเร็จรูปแล้ว ยังได้มุ่งเน้นกลยุทธ์เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นทั้งในประเทศและการเปิดเออีซี โดยเฉพาะความพร้อมด้านการแข่งขันลดต้นทุนการผลิต ที่นับว่าได้เปรียบพอสมควร เพราะประเทศ สปป.ลาว เป็นแหล่งวัตถุดิบหลักคุณภาพดีกว่า 80% ที่ใช้ในการผลิตอาหารสัตว์ไม่ว่าจะเป็น ข้าวโพด หรือมันสำปะหลัง ที่จะช่วยสนับสนุนการผลิตธุรกิจหลักของบริษัท คือ อาหารสัตว์ฟาร์มปศุสัตว์ และการผลิตอาหาร จึงจะอาศัยข้อได้เปรียบด้านนี้เพื่อดำเนินธุรกิจในช่วงดังกล่าว
ทั้งนี้ ซีพีเอฟได้เข้าดำเนินธุรกิจ ณ สปป.ลาว ตั้งแต่ปี 2549 โดยจัดตั้งบริษัท ซี.พี. ลาว เป็นการลงทุนและถือหุ้นโดยบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) 100% เพื่อดำเนินธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรม ประกอบด้วยธุรกิจผลิตอาหารสัตว์ มีกำลังการผลิตประมาณ 5,000 ตันต่อเดือน ฟาร์มปศุสัตว์ ไก่ สุกร และเป็ดไข่ และธุรกิจอาหารเช่น ไก่ย่าง 5 ดาว และประสบความสำเร็จตลอดระยะเวลา 7 ปีที่ดำเนินธุรกิจ ณ สปป.ลาว ผลการดำเนินงานของบริษัทระหว่างปี 2554-2555 เติบโตกว่า 30% ต่อปี สร้างความมั่นใจเดินหน้าขยายการลงทุนรองรับปริมาณกำลังซื้อภายในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น