(เพิ่มเติม) ผู้ว่า ธปท.มองเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังยังเผชิญความผันผวนตลาดเงินโลก

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday July 23, 2013 15:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)กล่าวว่า เศรษฐกิจช่วงครึ่งปีหลังยังคงจะเผชิญกับความผันผวนของตลาดเงินโลก เนื่องจากมาตรการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของสหรัฐและยุโรป ยังไม่ได้สงผลให้เศรษฐกิจฟื้นตัวแบบเบ็ดเสร็จ ตลาดเงินจึงยังไม่เห็นภาพชัดเจน

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าระบบการเงินไทยจะไม่เกิดภาวะตึงตัวในช่วงครึ่งปีหลังนี้ แม้ว่าอาจจะเกิดภาวะเงินทุนจากต่างประเทศไม่ได้ไหลกลับเข้ามา หลังจากที่ไหลออกไปในช่วงก่อนหน้านี้ เพราะที่ผ่านมามีเงินไหลเข้ามาค่อนข้างมากทำให้ไทยมีสภาพคล่องสูง ซึ่ง ธปท.ดูแลอยู่ แต่ยอมรับว่าตลาดเงินยังมีความอ่อนไหวพอสมควร เพราะในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)ประกาศว่าจะลดมาตรการ QE ทำให้ตลาดตอบรับแบบ over reaction บ้าง แต่ผลทดสอบ stress test ของไทย อัตราดอกเบี้ยกระตุกบ้าง แต่ก็เป็นไปในทิศทางเดียวกับตลาดเงินโลก ซึ่งถือว่าไม่รุนแรง

ขณะที่ไทยยังมีดุลการชำระเงินดุลการ้ค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดที่ไม่เปราะบาง ผสมกับเงินทุนสำรองระหว่างประเทศยังแข็งแกร่ง และไม่ได้มีแนวโน้มไปทางเปราะบาง ก็เชื่อว่าปัจจัยรอบด้านจะทำให้ไทยสามารถรองรับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ แต่ต้องไม่ประมาท เพราะหากมีเหตุการณ์อื่นๆ เข้ามากระทบในระยะสั้นบ่อย ๆ แล้วเรามีอาการนิ่งก็จะไม่ดี

สำหรับการปรับคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะขยายตัว 4.2% นั้น นายประสาร กล่าวว่า ไม่ถือว่าต่ำกว่าศักยภาพ เพราะเทียบกับเศรษฐกิจในภูมิภาคและเศรษฐกิจโลกยังถือว่าดี เพราะที่ผ่านมาประเทศเหล่านั้นคาดว่าจะเติบโตได้สูง ซึ่งหลักๆ ต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าก็ชะลอลงด้วย ต้องดูเนื้อในและรายละเอียด เช่น ความเป็นอยู่ รายได้ของประชาชนว่าอยู่ในสถานการณ์ที่เป็นปัญหาหรือไม่

ส่วนความจำเป็นในการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศเพิ่มเติมนั้น นายประสาร เห็นว่า หากมีการกระตุ้นจากการลงทุนของรัฐบาลที่มีการเบิกจ่ายตามแผนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของประเทศก็ถือว่าจะเป็นการกระตุ้นเพื่อช่วยสร้างประสิทธิภาพของประเทศในระยะยาว

นายประสาร กล่าวว่า ความเคลื่อนไหวในระบบเศรษฐกิจการเงินโลกย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย อันเนื่องมาจากผลกระทบของมาตรการ QE ของสหรัฐฯ ที่ยังไม่มีความแน่นอน และผลกระทบของเศรษฐกิจที่ชะลงตัวลงอย่างมีนัยสำคัญ สร้างความผันผวนต่อตลาดเงินโลก เป็นปัจจัยทั้ง Head Wind และ Tail Wind ที่เปรียบเสมือนเครื่องบิน ซึ่งมีแรงลมส่งผลให้เศรษฐกิจไทยจะโตได้ช้าลง หรือเร็วขึ้นในระยะข้างหน้า

อย่างไรก็ตาม หัวใจสำคัญคือ เศรษฐกิจไทยที่เปรียบเสมือนเครื่องบิน ต้องมีสมรรถนะที่จะสามารถขยายตัวได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว ดังนั้น ประเทศไทยจำเป็นต้องแก้ปัญหา 3 ประการที่เป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า คือ

1.ปัจจัยการผลิตด้านจำนวนแรงงานที่ประสบปัญหาขาดแคลนชัดเจน เพราะโครงสร้างประชากรในไทยเข้าสู่ภาวะสังคมสูงวัย การเพิ่มขึ้นของกำลังแรงงานเติบโตช้าลงใกล้ถึงขีดจำกัด ประกอบกับปริมาณการลงทุนในช่วงที่ผ่านมาอยู่ในระดับต่ำ เห็นได้จากอัตราการขยายตัวของทุนต่อแรงงานระหว่างปี 2008-11 อยู่ที่ 1.4% ลดลงจากปี 1987-96 อยู่ที่ 8.5% ขณะเดียวกันในช่วง 2 ปีที่ผ่านมายังมีแรงงานในภาคอุตสาหกรรมย้ายไปสู่ภาคเกษตรกรรม 7 แสนคน

2.การจัดสรรปัจจัยการผลิต ที่การพึ่งพาการย้ายแรงงานออกจากภาคเกษตร ไปยังภาคอุตสาหกรรมเป็นไปได้ยากขึ้น และ 3.คุณภาพปัจจัยการผลิต ประเทศไทยยังมีช่องว่างเรื่องการศึกษา นวัตกรรม กฎหมายและการบังคับใช้ที่ดี และสถาบันสังคมที่เข้มแข็ง

“เราต้องให้ความสำคัญต่อความเคลื่อนไหวของเศรษฐกิจโลก บางครั้งอาจมี Head Wind และ Tail Wind แต่สุดท้ายก็ต้องขึ้นอยู่กับสมรรถนะเครื่องบิน คือปัจจัยเสริมสมรรถนะของเศรษฐกิจไทยด้วยที่ ธปท.เป็นห่วง เพราะ Head Wind และ Tail Wind นั้นยังสามารถใช้นโยบายการเงินและนโยบายการคลังดูแลความผันผวนนำพาเศรษฐกิจให้ผ่านพ้นไปได้ แต่ถ้าเราไม่มีการสร้างจุดแข็งที่ขณะนี้เป็นข้อจำกัดของเศรษฐกิจไทยได้ ไทยก็จะเป็นประเทศ Middle Income ไปเรื่อยๆ"นายประสาร กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ