อัตราการขยายตัวชะลอลงจากเฉลี่ยที่ร้อยละ 7.8 ต่อปีในช่วงปี 2523-2539 มาอยู่ที่เฉลี่ยร้อยละ 3 ต่อปีในช่วงทศวรรษหลังวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ความสนใจส่วนใหญ่ได้มุ่งไปที่การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมหภาคซึ่งเน้นที่การดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจในระยะสั้นถึงปานกลาง อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดทางโครงสร้างเศรษฐกิจซึ่งถือเป็นกำแพงขวางกั้นการเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่แท้จริงกลับไม่ได้มีการกล่าวถึงเท่าที่ควร
ดังนั้น งานสัมมนาวิชาการในปีนี้จึงมีวัตถุประสงค์หลักที่จะประเมินสถานะของปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของไทยในมิติต่างๆ โดยเน้นการศึกษาผ่านมุมมองด้านจุลภาคที่จะช่วยบ่งชี้ข้อจำกัดสำคัญๆ ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและเน้นการสร้างองค์ความรู้ที่จะช่วยสนับสนุนนโยบายในการก้าวข้ามอุปสรรคดังกล่าวเพื่อให้เศรษฐกิจไทยสามารถเติบโตได้ตามศักยภาพที่แท้จริง
ธปท. มุ่งหวังให้การสัมมนาวิชาการในปีนี้เป็นเวทีที่เปิดกว้างสนับสนุนการแลกเปลี่ยนความคิดและมุมมองจากผู้เชี่ยวชาญที่มาจากหลากหลายสาขา รูปแบบการสัมมนาในปีนี้จึงมีความแตกต่างจากปีที่ผ่านๆ มา โดยจะมีการนำเสนองานวิจัยทั้งจากพนักงาน ธปท. และนักวิชาการภายนอกจากหลายองค์กร ซึ่งครอบคลุมมิติต่างๆ ดังนี้
1. ในช่วงที่ผ่านมาประเทศไทยไทยเริ่มเห็นข้อจำกัดในการพึ่งพาการสะสมปัจจัยการผลิต อาทิ แรงงานและทุน ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ คำถามสำคัญคือ การเติบโตของผลิตภาพการผลิตจะสามารถเป็นอีกหนึ่งแรงส่งที่ขับเคลื่อนการเติบโตในระยะยาวได้หรือไม่อย่างไร และจะมีที่มาจากไหน
2. อะไรคือข้อจำกัดเชิงโครงสร้างของตลาดแรงงานไทยในปัจจุบัน ความสามารถในการแข่งขันของไทยในอนาคตจะเป็นอย่างไรบนข้อจำกัดดังกล่าว นัยเชิงนโยบายที่สำคัญในการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศจากมุมมองตลาดแรงงานไทยคืออะไร
3. ภาคการเงินมีผลต่อการขยายตัวและเสถียรภาพของเศรษฐกิจในระยะยาวมากน้อยเพียงใด การมีระบบสถาบันการเงินและตลาดการเงินที่ลึก เข้าถึงไดอย่าทั่วถึง และเชื่อมโยงกับต่างประเทศ จะเอื้อให้เกิดการจัดสรรทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพโดยไม่กระทบต่อเสถียรภาพได้หรือไม่
4. กฎกติกาภาครัฐเป็นรากฐานสำคัญของกลไกการทำงานของตลาดและการจัดสรรทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ คำถามสำคัญคือ กฎหมายและการบังคับใช้ รวมทั้งแนวนโยบายทางเศรษฐกิจที่ผ่านมาส่งเสริมการแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรมมากน้อยเพียงใด
5. คุณภาพของสถาบันต่างๆ ในประเทศเป็นปัจจัยที่สำคัญยิ่งต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะยาว ปัจจัยเชิงวัฒนธรรม ทัศนคติและค่านิยม มีความเชื่อมโยงต่อคุณภาพของสถาบันเหล่านี้อย่างไร
6. การผลักดันการขยายตัวของเศรษฐกิจไม่ควรละเลยคุณภาพของการเติบโต การกระจายรายได้ (Income Distribution) และความเหลื่อมล้ำเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตอย่างมีเสถียรภาพหรือไม่ ทำอย่างไรจึงจะสามารถกระจายผลพวงของการเจริญเติบโตของประเทศให้ส่งทอดไปยังทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจ และจากรุ่นไปสู่รุ่นอย่างยั่งยืนต่อไป
นอกจากนี้ งานสัมมนาจะมีการเสวนาระดมความคิดเห็นจากบุคลากรผู้ทรงคุณวุฒิทั้งจากภาครัฐและเอกชน ซึ่งจะสะท้อนมุมมองและประสบการณ์ ทั้งจากผู้กำหนดนโยบายและผู้ดำเนินธุรกิจ อาทิ นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และประธานกรรมการบริหารกลุ่มธุรกิจ การเงินเกียรตินาคิน-ภัทร, นายบุญชัย โชควัฒนา ประธานกรรมการ บมจ. สหพัฒนพิบูล (SPC) นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานกรรมการ มูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม, นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ