(เพิ่มเติม) รายงานกนง.มองตลาดเงิน-เงินทุนเคลื่อนย้ายเสี่ยงกระทบบาท-เสถียรภาพศก.ไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 24, 2013 09:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยรายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ครั้งที่ 5 /2556 ในการประชุมวันที่ 9-10 ก.ค.56 ระบุว่า คณะกรรมการฯ ส่วนใหญ่มีความเห็นสอดคล้องกันว่า ภาวะตลาดการเงินและเงินทุนเคลื่อนย้ายยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความผันผวนของค่าเงินบาทตลอดจนเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินได้ จึงควรติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป

ดังนั้น ที่ประชุม กนง.จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 2.50 ต่อปี

ธปท.ระบุว่า จากการหารือของ กนง.ถึงทางเลือกที่เหมาะสมในการดำเนินนโยบายการเงิน สรุปว่าเศรษฐกิจโลกโดยรวมขยายตัวต่ำกว่าคาดจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนเป็นสำคัญ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของภาคการส่งออกของเศรษฐกิจเอเชียรวมทั้งไทย แม้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐและญี่ปุ่นจะปรับดีขึ้นบ้าง

ขณะที่เศรษฐกิจไทยขยายตัวชะลอลงจากทั้งอุปสงค์ในประเทศและการส่งออก ส่วนหนึ่งเพราะครัวเรือนระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้นจากภาระหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้นและนโยบายกระตุ้นภาครัฐที่ทยอยหมดลง โดยอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศที่ชะลอตัวลง อาจส่งผลให้การลงทุนภาคเอกชนบางส่วนล่าช้าออกไป ทั้งนี้ การปรับประมาณการการขยายตัวทางเศรษฐกิจล่าสุด สืบเนื่องมาจากตัวเลข GDP ในไตรมาสแรกที่ต่ำกว่าคาดรวมถึงเครื่องชี้ทางเศรษฐกิจล่าสุดที่ชะลอตัว ซึ่งแนวโน้มการชะลอลงนี้ คณะกรรมการฯ ได้นำมาพิจารณาแล้วในการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งที่ผ่านมา

สำหรับนโยบายการเงินและการคลังอยู่ในระดับที่ผ่อนคลายเพียงพอต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ สะท้อนจากการขยายตัวของสินเชื่อและการขาดดุลการคลังอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับสถาบันการเงินยังคงมีการแข่งขันกันสูงทั้งด้านสินเชื่อและระดมเงินฝาก และความเสี่ยงด้านเสถียรภาพทางการเงินยังเป็นประเด็นที่ต้องติดตาม แม้สินเชื่อในช่วงที่ผ่านมาจะขยายตัวชะลอลงบ้าง แต่ยังอยู่ในระดับที่สูง โดยเฉพาะภาระหนี้ครัวเรือนในปัจจุบันที่หากเพิ่มขึ้นอีกจะเป็นการเพิ่มความไม่สมดุลทางการเงิน

"การดำเนินนโยบายที่เหมาะสม คณะกรรมการฯ ประเมินว่าขณะนี้การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงพักฐาน เนื่องจากได้เร่งใช้จ่ายไปมากจากนโยบายกระตุ้นของภาครัฐในช่วงก่อนหน้า แต่น่าจะเป็นเพียงปัจจัยชั่วคราวและกลับมาขยายตัวในระดับปกติได้ในระยะต่อไป เนื่องจากปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี เช่น การจ้างงาน และรายได้ประชาชน แม้ว่าเศรษฐกิจโลกจะมีสัญญาณการฟื้นตัวบ้าง แต่ยังคงมีความเปราะบางอยู่ นโยบายการเงินในระดับปัจจุบันยังคงผ่อนปรนเพียงพอและสามารถเอื้อให้เศรษฐกิจไทยกลับมาขยายตัวในอัตราปกติได้"รายงาน ระบุ

จากการพิจารณาภาวะตลาดการเงิน กนง.มีความเห็นว่าค่าเงินดอลลาร์ สรอ. มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลหลักและสกุลภูมิภาค จากคาดการณ์ของตลาดถึงความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด) จะทยอยปรับลดหรือยุติการทำธุรกรรม QE เร็วขึ้น ประกอบกับภาวะที่เศรษฐกิจจีนและตลาดเกิดใหม่เริ่มชะลอลง ส่งผลให้มีเงินทุนไหลออกจากทั้งตลาดหลักทรัพย์และตลาดพันธบัตรของประเทศตลาดเกิดใหม่รวมทั้งไทยในเดือน มิ.ย.ส่งผลให้เงินบาทและเงินสกุลภูมิภาคอ่อนค่าลง แต่เงินบาทยังผันผวนต่ำกว่าเงินสกุลภูมิภาคส่วนใหญ่

เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลชันขึ้น โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นลดลงตามการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งก่อน ขณะที่ระยะปานกลางถึงยาวโดยรวมปรับเพิ่มขึ้นตามการคาดการณ์การปรับลด QE ของสหรัฐฯ ซึ่งทำให้นักลงทุนต่างชาติขายพันธบัตรของไทยเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดีในบางช่วงอัตราผลตอบแทนปรับลดลงบ้างจากแรงขายของนักลงทุนต่างชาติที่ชะลอลง และการประกาศวงเงินการออกพันธบัตรรัฐบาลไทยในไตรมาส 4 ของปีงบประมาณ 2556 น้อยกว่าที่ตลาดคาด ทั้งนี้ ตลาดส่วนใหญ่คาดว่า กนง.จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งนี้

คณะกรรมการฯ อภิปรายถึงนัยของ QE Tapering ในสหรัฐฯ ต่อภาวะตลาดการเงิน โดยเห็นว่า (1) เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่ชันขึ้นในหลายประเทศเป็นผลของการลดสัดส่วนการลงทุนในพันธบัตรระยะยาว เพื่อลดความเสี่ยงด้านอัตราดอกเบี้ยระยะยาว ในขณะที่ตลาดพันธบัตรของไทยปกติค่อนข้างอ่อนไหวต่อปัจจัยต่างประเทศจึงได้รับผลกระทบด้วย (2) ประเทศตลาดเกิดใหม่ทั้งในภูมิภาคเอเชียและลาตินอเมริกาอาจเผชิญกับภาวะเงินทุนไหลออก เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ได้รับเงินทุนไหลเข้าค่อนข้างมากในช่วงก่อนหน้า ในขณะที่ผลกระทบเชิงจิตวิทยา (Risk appetite) ต่อการเคลื่อนไหวของเงินทุนในระยะต่อไปยังคาดการณ์ได้ยาก

อย่างไรก็ดี กรรมการฯ บางท่านเห็นว่าตลาดการเงินอาจมีการปรับตัวต่อข่าว QE Tapering มากเกินไปในระยะสั้น (Overreaction) เนื่องจากเจตนารมณ์ของเฟดต้องการลดขนาด QE ภายใต้เงื่อนไขการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่เห็นชัดเท่านั้น แต่ผู้ร่วมตลาดส่วนหนึ่งเข้าใจว่าเฟดมีกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจนขึ้นในการลด QE, การปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยระยะยาวเริ่มส่งผลให้ภาครัฐปรับแผนการออกปริมาณพันธบัตรใหม่บ้าง ขณะที่ภาคเอกชนยังไม่มีสัญญาณชะลอหรือยกเลิกแผนการออกหุ้นกู้ในขณะนี้ จึงควรติดตามผลกระทบต่อตลาดการเงิน รวมทั้งนัยต่อการระดมทุนของภาคเอกชนอย่างใกล้ชิด

ภาวะเศรษฐกิจต่างประเทศ เศรษฐกิจโลกโดยรวมขยายตัวชะลอลงเล็กน้อยจากการประชุมครั้งก่อน โดยความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศหลักลดลง ขณะที่ความเสี่ยงของเศรษฐกิจจีนและเอเชียมีเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี คาดว่าเศรษฐกิจโลกในภาพรวมจะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี โดยเศรษฐกิจสหรัฐฯ แม้ชะลอลงในไตรมาส 2/56 จากการบริโภคภาคเอกชนที่ถูกกระทบจากการปรับขึ้นภาษี แต่ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น โดยเฉพาะภาคแรงงานและภาคที่อยู่อาศัยจะเป็นแรงสนับสนุนการใช้จ่ายของภาคเอกชนและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในระยะต่อไป

เศรษฐกิจกลุ่มประเทศยูโรยังอ่อนแอแต่เริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้นจากความเชื่อมั่นและการผลิตของประเทศหลักในกลุ่ม โดยเฉพาะเยอรมนี เศรษฐกิจญี่ปุ่นมีแนวโน้มขยายตัวจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ซึ่งเริ่มส่งผลบวกต่อการบริโภคภาคเอกชน การผลิต และการส่งออกชัดเจนขึ้น ในขณะที่เศรษฐกิจจีนชะลอตัวจากการส่งออกและการลงทุนเป็นหลัก แต่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นในระยะต่อไป เนื่องจากปัจจัยพื้นฐานในประเทศ เช่น การจ้างงาน รายได้ของประชาชนและภาคธุรกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี ประกอบกับมาตรการสนับสนุนการลงทุนของทางการ จะช่วยสนับสนุนให้อุปสงค์ในประเทศเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจต่อไปได้แม้การขยายตัวจะไม่สูงมากเท่าในอดีตตามแนวนโยบายของทางการที่มุ่งเน้นเสถียรภาพเศรษฐกิจมากขึ้น

สำหรับเศรษฐกิจเอเชียยังคงขยายตัวได้จากอุปสงค์ในประเทศเป็นหลัก แต่มีแนวโน้มฟื้นตัวช้ากว่าการประชุมครั้งก่อนตามการชะลอตัวของการส่งออก ซึ่งส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน แต่คาดว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศหลักที่ชัดเจนขึ้นในปี 57 จะสนับสนุนการฟื้นตัวของการส่งออกของเศรษฐกิจเอเชียต่อไปแรงกดดันเงินเฟ้อของประเทศส่วนใหญ่ยังอยู่ในระดับต่า ส่วนหนึ่งจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับลดลงส่งผลให้ธนาคารกลางส่วนใหญ่คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

กนง.เห็นว่าประเด็นสำคัญที่ควรติดตามในระยะต่อไป ได้แก่ การขยายตัวในระดับสูงของสินเชื่อจากธุรกรรมของ Shadow Banking ในจีนอาจเป็นความเสี่ยงสำคัญต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงิน หากทางการจีนไม่มีมาตรการกำกับดูแลที่เหมาะสม และผลกระทบของการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนต่อภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวของไทย รวมทั้งกรรมการฯ ท่านหนึ่งมีความเห็นว่าปัจจุบันสถานะงบดุลของสหรัฐฯ และกลุ่มประเทศยูโรยังคงเปราะบางอยู่ จึงมีความเสี่ยงที่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอาจล่าช้าออกไปกว่าที่คาด

ภาวะเศรษฐกิจในประเทศ เศรษฐกิจไทยขยายตัวชะลอลงจากทั้งอุปสงค์ในประเทศและการส่งออก การบริโภคภาคเอกชนโดยเฉพาะการบริโภคสินค้าคงทนชะลอตัวจากผลของการพักฐาน หลังจากที่เร่งตัวมากในช่วงก่อนหน้า ส่วนหนึ่งเพราะครัวเรือนระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้นจากภาระหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับแรงกระตุ้นจากมาตรการภาครัฐทยอยหมดลง การส่งออกชะลอลงจากทั้งปัญหาด้านอุปทานภายในประเทศและการส่งออกไปจีนที่ชะลอตัวชัดเจนตั้งแต่ปลายไตรมาส 1/56 ประกอบกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังไม่ส่งผลดีต่อการส่งออกอย่างชัดเจน อุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศที่ชะลอตัวส่งผลสืบเนื่องให้การลงทุนภาคเอกชนบางส่วนชะลอลง

อย่างไรก็ดี แผนการลงทุนเพื่อปรับปรุงโครงสร้างการผลิตยังมีอยู่และผู้ประกอบการส่วนใหญ่ไม่ได้มีข้อจำกัดด้านการเงิน ดังนั้น ภาคเอกชนจึงน่าจะกลับมาขยายการลงทุนตามแผนได้หากอุปสงค์ปรับตัวดีขึ้น นอกจากนี้ ปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะต่อไปยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราการว่างงานที่อยู่ในระดับต่ำ รายได้นอกภาคเกษตรที่อยู่ในระดับสูง และภาวะการเงินที่ยังเอื้ออำนวยอุปสงค์ในประเทศและการส่งออกที่ชะลอตัวลง ประกอบกับแรงกระตุ้นจากภาครัฐที่มีแนวโน้มล่าช้ากว่าที่ได้ประเมินไว้ โดยเฉพาะในส่วนของการลงทุนในโครงการบริหารจัดการน้ำ ส่งผลให้คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 56 จะขยายตัวต่ำกว่าประมาณการเดิมมาอยู่ที่ร้อยละ 4.2

สำหรับแรงกดดันด้านเงินเฟ้อต่ำลงจากอุปสงค์ในประเทศและต้นทุนการผลิตทั้งราคาน้ำมันและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ลดลง ขณะที่ความเสี่ยงด้านเสถียรภาพทางการเงินยังเป็นประเด็นที่ต้องติดตาม จากสินเชื่อภาคเอกชนและหนี้ภาคครัวเรือนที่แม้เริ่มชะลอลงแต่ยังอยู่ในระดับสูง

กรรมการฯ บางท่านตั้งข้อสังเกตว่าการส่งออกของไทยในช่วงที่ผ่านมายังขยายตัวได้ดีกว่าหลายประเทศในภูมิภาค ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะสินค้าส่งออกของไทยมีหลายประเภท ซึ่งช่วยกระจายความเสี่ยง กรรมการฯ บางท่านมีความเห็นว่าการลดลงอย่างมีนัยสำคัญของการลงทุนภาคเอกชนอาจมีผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะยาว ในขณะที่ข้อจำกัดทางด้านอุปทาน เช่น การขาดแคลนแรงงาน ความท้าทายในการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและเพิ่มมูลค่าสินค้า ถือเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยและอาจส่งผลกระทบให้ศักยภาพการเติบโต (Potential growth) ของเศรษฐกิจไทยลดลง ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ยังไม่ครอบคลุมในการพยากรณ์จากแบบจำลอง และไม่อาจแก้ไขได้ด้วยนโยบายการเงินหรือนโยบายที่กระตุ้นด้านอุปสงค์แต่เพียงอย่างเดียว แต่จำเป็นต้องอาศัยนโยบายหรือการปฏิรูปด้านอุปทานอื่นๆ ประกอบกันด้วย ขณะที่กรรมการฯ บางท่านเห็นควรให้ติดตามพัฒนาการเศรษฐกิจโลกและแนวโน้มการลงทุนภาครัฐอย่างใกล้ชิด เนื่องจากยังคงเป็นความเสี่ยงสำคัญต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า

คณะกรรมการฯ ประเมินว่าปัจจัยสำคัญที่ทำให้ธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่ตัดสินใจไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยทั้งเงินฝากและเงินกู้ตามมติการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ กนง.เมื่อวันที่ 29 พ.ค.56 น่าจะมาจากความกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มสภาพคล่องในระยะต่อไป ภายใต้ภาวะการแข่งขันระดมเงินฝากที่ยังอยู่ในเกณฑ์สูง เนื่องจากยังมีแผนขยายสินเชื่อต่อเนื่อง ภาครัฐมีแผนการระดมทุนขนาดใหญ่ผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ และการกระจายตัวของสภาพคล่องและกลยุทธ์การแข่งขันของธนาคารแต่ละแห่งแตกต่างกัน ดังนั้น การปรับลดอัตราดอกเบี้ยจึงทำได้ยากในภาวะที่การแข่งขันระดมเงินฝากและความต้องการสินเชื่อยังมีอยู่ต่อเนื่อง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ