ทั้งนี้ ตั้งเป้าภายในปี 57 จะผลักดันให้มูลค่าการส่งออกสินค้าอาหารฮาลาลไทยเพิ่มสัดส่วนเป็น 10% จากปัจจุบันอยู่ที่ 4.3% ของมูลค่ารวมอาหารฮาลาลโลกที่มีอยู่ไม่ต่ำกว่า 100,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
สำหรับแผนดำเนินการนั้นจะสนับสนุนให้ผู้ประกอบการอาหารไทยจัดทำธุรกิจแฟรนไชส์ฮาลาล จำหน่ายสินค้าอาหารฮาลาล ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยตลาดในประเทศพบว่านักท่องเที่ยวกลุ่มอาหรับเข้ามาท่องเที่ยวและเข้ามาใช้บริการด้านสุขภาพในไทยจำนวนมาก และมีกำลังซื้อสูง
ขณะเดียวกันจะหารือกับนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมว.คมนาคม รวมถึงผู้บริหารการไฟฟ้าแห่งประเทศไทย(รฟท.) และ บมจ.การท่าอากาศยานไทย (AOT) หรือ ทอท. เพื่อจัดสรรพื้นที่สนามบินในประเทศไทย และพื้นที่ของ รฟท.จัดโซนร้านค้าอาหารฮาลาล เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ชาวมุสลิมที่เดินทางท่องเที่ยวในประเทศ เพราะหาอาหารฮาลาลได้ลำบากในแหล่งท่องเที่ยวบางพื้นที่
"ในอนาคตจะผลักดันให้มีการตั้งโซนอาหารฮาลาลให้มากขึ้นทั้งสนามบิน สถานีรถไฟ โดยเฉพาะโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาทของรัฐบาล ทั้งในส่วนของโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงหรือเส้นทางคมนาคมอื่นๆ" นายณัฐวุฒิ กล่าว
นอกจากนี้ ในช่วงปลายปี 56 ก็จะผลักดันให้จัดงานอาหารฮาลาลระดับโลกในไทย โดยจะนำผลิตภัณฑ์อาหารฮาลาลทั่วประเทศมาแสดงในงาน พร้อมทั้งเชิญผู้ประกอบธุรกิจอาหารฮาลาลทั่วโลกรวมถึงผู้บริโภคเข้ามาชมงาน และเจรจาจับคู่ทางธุรกิจ ซึ่งจะเป็นช่องทางหนึ่งในการขยายตลาดและการสร้างความเชื่อมั่นมาตรฐานฮาลาลของไทย ล่าสุด น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าว
ขณะเดียวกันจะให้การสนับสนุนร้านอาหารไทยในต่างชาติที่มีความเข้มแข็งโดยการส่งเสริมการขยายกิจการ โดยภาครัฐจะหารือกับธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยในการปล่อยสินเชื่อ รวมถึงการสนับสนุนวัตถุดิบด้วย โดยจะเริ่มจากการไปเยี่ยมเยือนร้านอาหารไทยมุสลิมในประเทศมาเลเซียหรือร้านต้มยำกุ้งที่มีประมาณ 7,000 ร้าน และมีการจ้างงานคนไทยกว่า 100,000 คน