2.การส่งเสริมความมั่นคงกองทุน โดยการจัดทำโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนร่วมกับกองทุนหมู่บ้านฯ ที่มีความพร้อม ทั้งนี้เพื่อให้กองทุนหมู่บ้านฯ มีรายได้ที่จะนำมาใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ มากขึ้น และ 3.การพัฒนากองทุนเป็นศูนย์บริการประชาชน โดยส่งเสริมให้กองทุนหมู่บ้านฯ เป็นศูนย์กลางรับจ่ายค่าธรรมเนียมหรือค่าบริการต่างๆ เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ เพื่อความประหยัดและสะดวกของประชาชน ทั้งส่งเสริมให้กองทุนจัดตั้งร้านค้าชุมชน(ภายใต้ Brand กองทุนหมู่บ้านฯ) ซึ่งอาจเป็นทั้งร้านอาหาร ร้านค้า ที่พัก ฯลฯ เพื่อให้เป็นแหล่งพัฒนาและจำหน่ายสินค้าและการให้บริการอย่างมีคุณภาพ และราคาถูกแก่ประชาชน ซึ่งนอกจากกองทุนจะได้ช่วยเหลือและบริการประชาชนแล้ว กองทุนยังมีรายได้เพื่อการพัฒนากองทุนและสมาชิกให้มีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนต่อไป
นายวราเทพ กล่าวว่า กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง เป็นนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการเสริมสร้างกระบวนการพึ่งพาตนเองของหมู่บ้านและชุมชนในด้านการเรียนรู้ การสร้างพัฒนาความคิดริเริ่ม เพื่อแก้ไขปัญหาและเสริมสร้างศักยภาพทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมของประชาชนในหมู่บ้านและชุมชนเมือง โดยให้กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองเป็นศูนย์กลางและโครงข่ายการเรียนรู้ เงินทุน สวัสดิภาพ สวัสดิการ และการแก้ไขปัญหาของหมู่บ้านและชุมชน และส่งเสริมพัฒนาให้สมาชิกและครัวเรือนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น พร้อมทั้งสามารถพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืนเพื่อเป็นภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจโดยรวม
ในรอบ 12 ปีที่ผ่านมา นโยบายกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติได้สร้างสรรค์งานเกิดผลต่อความเป็นอยู่ที่ดีของสมาชิกกองทุนกว่า 12 ล้านคน ซึ่งผลการดำเนินงานที่ผ่านมาไมใช่เพียงสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองเท่านั้น หากแต่เป็นความร่วมมือของภาคประชาชน คณะกรรมการกองทุน เครือข่ายกองทุน สถาบันการเงิน รวมทั้งหน่วยงานและภาคีที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ได้ร่วมกันส่งเสริม สนับสนุน การดำเนินงานมาโดยตลอด ซึ่งเป็นประโยชน์โดยตรงสู่ประชาชนในท้องถิ่น ชุมชน และเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาชุมชนเข้มแข็ง
นอกจากนี้ ยังเป็นกลไกสำคัญของการพัฒนาประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มทุนระยะที่ 3 (การเพิ่มทุนล้านใหม่) การจัดตั้งสถาบันการเรียนรู้กองทุนหมู่บ้านเฉลิมพระเกียรติ การจัดตั้งสถาบันการเงินชุมชน 10,000 แห่ง(อย่างน้อย ตำบลละ 1 แห่ง) โดยได้ลงนามความร่วมมือกับธนาคารออมสิน, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธกส.) และธนาคารกรุงไทย เพื่อดำเนินการร่วมกันในการแก้ไขปัญหาภาษีกองทุนหมู่บ้านฯ
"การดำเนินงานที่ผ่านมา ได้มีส่วนสำคัญในการช่วยกระจายความเจริญรุ่งเรือง และผลักดันกระบวนการอยู่ร่วมกันในชุมชนด้วยการพึ่งพาอาศัยสมาชิกในชุมชน อาศัยกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในหมู่บ้าน, ชุมชน เพื่อนำไปพัฒนาชุมชนให้มีความสุขสมบูรณ์ และทำให้ประชาชนในหมู่บ้าน, ชุมชน มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น" นายวราเทพ กล่าว
นายนที ขลิบทอง ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ กล่าวว่า ผลการดำเนินงานของกองทุนหมู่บ้านที่ผ่านมาว่า ปัจจุบันมีกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองจำนวน 79,255 กองทุน สมาชิก 12,801,444 คน เงินทุนหมุนเวียนของกองทุนทั่วประเทศไม่น้อยกว่า 200,000 ล้านบาท
โดยสมาชิกสามารถระดมเงินออมและเงินสมทบเข้ากองทุนได้กว่า 30,000 ล้านบาท และมีการใช้ดอกผลจากกองทุนเพื่อจัดสวัสดิการและสาธารณะประโยชน์ในหมู่บ้านและชุมชนอีกไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนากองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองให้เป็นสถาบันการเงินชุมชน ไม่ต่ำกว่า 3,000 แห่ง และพัฒนากองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองที่ประสบผลสำเร็จเป็นสถาบันการเรียนรู้กองทุนหมู่บ้านฯ เพื่อเผยแพร่บทเรียนความสำเร็จของกองทุนหมู่บ้านฯ ได้ทุกจังหวัดทั่วประเทศ
นอกจากนี้ ในปี 2555 ได้มีการประเมินศักยภาพกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองทุกแห่งทั่วประเทศ โดยกองทุนหมู่บ้านฯ ได้รับการประเมินแล้ว จำนวน 77,696 กองทุน จากเป้าหมาย 79,255 กองทุน คิดเป็นร้อยละ 98.03 มีกองทุนหมู่บ้านฯ ผ่านเกณฑ์ระดับดีมาก จำนวน 28,397 กองทุน (ร้อยละ 36.55) ระดับดี จำนวน 31,350 กองทุน (ร้อยละ 40.35) ระดับปานกลาง จำนวน 11,853 กองทุน (ร้อยละ 15.25) และต้องปรับปรุง แก้ไข จำนวน 6,096 กองทุน (ร้อยละ 7.85)