ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาดสินเชื่อแบงก์ปีนี้ยังโตได้ดี-กดดันสภาพคล่อง แม้โมเมนตัมศก.อ่อนลง

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 25, 2013 16:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ปรับลดประมาณการเติบโตของสินเชื่อธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศในปี 56 ลงมาที่ร้อยละ 11.0 (กรอบคาดการณ์ที่ร้อยละ 9 - 12) จากประมาณการเดิมที่ร้อยละ 11.5 เนื่องจากด้วยโมเมนตัมของเศรษฐกิจไทยในระยะถัดไปที่มีแนวโน้มอ่อนแรงลงจากหลากหลายปัจจัยเสี่ยง โดยเฉพาะการฟื้นตัวที่ล่าช้าของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญ และการชะลอตัวของอุปสงค์ในประเทศจากการเร่งใช้จ่ายไปในช่วงก่อนหน้า คงมีส่วนกดดันภาพรวมการเติบโตของสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ในระยะถัดไปบ้าง โดยเฉพาะสินเชื่อเพื่อการค้าระหว่างประเทศและสินเชื่อเพื่อการจับจ่ายใช้สอยของภาคครัวเรือน

อย่างไรก็ตาม ภาพรวมสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ทั้งปี 56 ยังน่าจะสามารถประคับประคองการเติบโตไว้ได้ นำโดยความต้องการสินเชื่อเพื่อเงินทุนหมุนเวียนของผู้ประกอบการรายใหญ่และผู้ประกอบการเอสเอ็มอี จากต้นทุนการผลิตที่น่าจะเร่งตัวขึ้นตามราคาพลังงานโลกและการปรับโครงสร้างราคาพลังงานของภาครัฐ

ขณะเดียวกัน อัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ที่ทรงตัวในระดับต่ำ ก็คงเป็นแรงหนุนที่ช่วยเสริมความต้องการสินเชื่อเพื่อการลงทุนระยะยาวของผู้ประกอบการได้บางส่วน ส่วนความต้องการสินเชื่อของลูกค้ารายย่อยคาดว่ายังคงขยายตัวได้จากความต้องการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ แม้อาจเป็นอัตราการเติบโตที่ไม่หวือหวานักเหมือนในช่วงที่ผ่านมา หลังการทยอยส่งมอบรถยนต์ตามโครงการรถยนต์คันแรกเสร็จสิ้นลง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า แม้การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของเงินให้สินเชื่อดังกล่าว จะเป็นปัจจัยสำคัญที่กดดันสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ในระยะถัดไป แต่ด้วยการบริหารจัดการสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ที่มีความระมัดระวังสูง คงทำให้แต่ละธนาคารติดตามความก้าวหน้าของสินเชื่อและสถานการณ์ทางเศรษฐกิจต่างๆ อย่างใกล้ชิด พร้อมออกผลิตภัณฑ์เงินออมที่สามารถแข่งขันได้ในจังหวะที่สอดรับกับความต้องการใช้สภาพคล่องของแต่ละธนาคาร ซึ่งในที่สุดแล้วก็น่าจะช่วยหนุนให้สภาพคล่องของธนาคารยังอยู่ในระดับเพียงพอกับการดำเนินธุรกิจในช่วงที่เหลือของปี 2556 อย่างไม่เป็นประเด็นที่ต้องกังวล

"แนวโน้มสินเชื่อ คาดว่าน่าจะยังสามารถประคองการเติบโตไว้ได้อย่างต่อเนื่อง และคงเป็นปัจจัยสำคัญที่กดดันสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ในระยะถัดไป แต่ด้วยการบริหารจัดการสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ผ่านการออกผลิตภัณฑ์เงินฝากที่สามารถแข่งขันได้อย่างต่อเนื่อง ก็คงจะช่วยให้สภาพคล่องของธนาคารยังอยู่ในระดับเพียงพอต่อการดำเนินธุรกิจในช่วงที่เหลือของปี 2556 โดยไม่เป็นประเด็นที่ต้องกังวล" เอกสารศูนย์วิจัย ระบุ

อย่างไรก็ดี คงต้องติดตามสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ผูกโยงกับแนวโน้มเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญทั้งสหรัฐฯ จีน และยุโรปอย่างใกล้ชิด เพราะจะมีผลต่อความเชื่อมั่นในการลงทุนของภาคเอกชนไทย ความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยของครัวเรือน รวมถึงความต้องการสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ ตลอดจนการวางแผนบริหารจัดการสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ในระยะถัดไป

อนึ่ง ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้รวบรวมข้อมูลสินเชื่อ เงินฝาก และสภาพคล่องของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยที่ประกอบด้วยธนาคารพาณิชย์ไทย 14 แห่ง (เบื้องต้น) ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2556 เทียบกับสิ้นเดือนพฤษภาคม 2556 พบว่า สภาพคล่องเดือน มิ.ย.2556 ตึงตัวขึ้น จากการเพิ่มขึ้นของเงินให้สินเชื่อที่มากกว่าผลรวมของเงินฝากรวมกับตราสารหนี้ที่ออกและเงินกู้ยืม โดยยอดเงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้สุทธิ ของ 14 ธนาคารพาณิชย์ไทย ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2556 มีจำนวน 9.04 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.58 แสนล้านบาท จากยอดคงค้างที่ 8.88 ล้านล้านบาท ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2556 (นำโดยการเพิ่มขึ้นของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่เป็นหลัก) หรือเติบโตร้อยละ 12.79 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนพฤษภาคม 2556 ที่เติบโตได้ร้อยละ 12.23

ทั้งนี้ การเติบโตของยอดเงินให้สินเชื่อในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา คาดว่าเป็นผลจากความต้องการสินเชื่อของรายย่อยที่ยังอยู่ในระดับสูงโดยเฉพาะสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์และสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ขณะเดียวกัน ความต้องการสินเชื่อของผู้ประกอบการเติบโตได้ดีเช่นกัน ทั้งสินเชื่อเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนและสินเชื่อเพื่อการลงทุนระยะยาว

ด้านยอดเงินฝาก มีจำนวน 9.68 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.34 หมื่นล้านบาท จากยอดคงค้างที่ 9.63 ล้านล้านบาท ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2556 ขณะที่ ตราสารหนี้ที่ออกและเงินกู้ยืม (ซึ่งมีตั๋วแลกเงินเป็นหนึ่งในองค์ประกอบ) มีจำนวน 7.91 แสนล้านบาท ลดลง 1.52 หมื่นล้านบาทจากเดือนก่อนหน้า ทำให้เมื่อรวมเงินฝากกับตราสารหนี้ที่ออกและเงินกู้ยืมแล้ว พบว่า มีจำนวนทั้งสิ้น 10.48 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.82 หมื่นล้านบาท จากระดับ 10.44 ล้านล้านบาท ในเดือนก่อนหน้าหรือเติบโตราวร้อยละ 10.99 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ