ภาคเอกชนหนุนลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านลบ. แต่แนะปรับปรุงประสิทธิภาพรฟท.-พื้นที่เส้นทาง

ข่าวเศรษฐกิจ Friday July 26, 2013 16:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานคณะทำงานเศรษฐกิจมหภาค การเงิน การคลัง สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สป.) เปิดเผยถึงผลการศึกษาความต้องการภาคเอกชน และผลกระทบทางเศรษฐกิจจากแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบคมนาคมขนส่ง พ.ศ.2556-2563 ว่า จากการจัดสัมมนาเชิงปฎิบัติการเพื่อรับฟังความคิดเห็นในพื้นที่ 5 ภาคทั่วประเทศ ระหว่างเดือนพ.ค.-มิ.ย.56 พบว่าภาคเอกชน หน่วยงานภาครัฐ และส่วนท้องถิ่นได้ให้ความสนใจและให้การตอบรับที่ดีกับโครงการดังกล่าว

โดยผู้ที่ร่วมแสดงความคิดเห็น 649 คน ล้วนสนับสนุนกับแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบคมนาคมขนส่งของรัฐบาล ซึ่งมองว่าเป็นโครงการที่ดี โดยเฉพาะระบบราง เพราะพื้นที่ต่างจังหวัดมีความต้องการมาก ซึ่งจะช่วยในด้านการขนส่ง และความสะดวกด้านการโดยสาร และขณะที่มีการลงทุนก่อสร้างจะช่วยทำให้เกิดการจ้างงานในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องได้อีกต่อเนื่องไปถึง 7 ปีข้างหน้า

ขณะเดียวกันได้เรียกร้องให้รัฐบาลสนับสนุนภาคเอกชนให้เข้ามาร่วมลงทุน โดยเฉพาะโครงการรถไฟความเร็วสูง รวมทั้งการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์โดยรอบสถานีรถไฟ ทั้งรถไฟความเร็วสูงและรถไฟทางคู่ โดยรัฐบาลอาจใช้วิธีการ PPPs การร่วมทุนระหว่างรัฐบาลกับเอกชน ให้เอกชนทั้งนักลงทุนไทยและต่างประเทศเป็นผู้ลงทุน ซึ่งจะทำให้รัฐบาลใช้เงินกู้น้อยลง อีกทั้งอาจจะใช้วิธีการระดมทุนผ่านตลาดหุ้นและตราสารหนี้ ตั้งเป็นกองทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน พ.ศ.2556-2563 ซึ่งจะทำให้ประหยัดงบประมาณและลดปัญหาการกู้เงิน ซึ่งจะทำให้ไม่ส่งผลกระทบต่อสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP

สำหรับการลดต้นทุนโลจิสติกส์นั้น ที่ผ่านมารัฐบาลมีเป้าหมายลดต้นทุนโลจิสติกส์ต่อ GDP จาก 15.2% ลงเหลือ 13.2% ซึ่งความสำเร็จขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพของการขนถ่ายสินค้าจากรถบรรทุกสู่การขนส่งทางรางและทางน้ำ แต่กระทรวงคมนาคมยังขาดแนวทางในการปฎิบัติในการเปลี่ยนโหมดขนส่ง ดังนั้นภาคเอกชนจึงต้องการให้รัฐบาลจัดตั้งกลไกในรูปคณะกรรมการร่วมให้เข้ามาดำเนินการผลักดัน โดยเฉพาะหน่วยงานเจ้าภาพ เนื่องจากเกี่ยวข้องกับหลายกระทรวง รวมถึงเรื่องรถไฟความเร็วสูง และการจัดส่งสินค้าผ่านระบบรางคู่ ซึ่งรัฐบาลต้องมีความชัดเจนว่า หากโครงการแล้วเสร็จ หน่วยงานของรัฐหน่วยงานใดจะเข้ามาเป็นผู้บริหารจัดการ

ทั้งนี้ภาคเอกชนมีความกังวลต่อประสิทธิภาพของการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) หากรัฐบาลจะให้เข้ามาดำเนินการ ก็ควรจะต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงทั้งในด้านประสิทธิภาพและประสิทธิผล เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับภาคเอกชนด้วย

นายธนิต กล่าวว่า จากผลการศึกษายังระบุว่าหลังโครงการแล้วเสร็จจะเกิดการขยายตัวของเมืองและชุมชน โดยเฉพาะตามเส้นทางรถไฟความเร็วสูงที่จะก่อให้เกิดเมืองและชุมชนใหม่ จึงจำเป็นต้องมีการพัฒนาจังหวัด ซึ่งจะทำให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจระดับท้องถิ่น เป็นการยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตของประชาชน ดังนั้นจึงควรจะจัดทำเป็นแผนยุทธศาสตร์จังหวัดร่วมกับกระทรวงต่างๆ เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงเกษตรฯ โดยจัดทำให้เป็นแผนที่ชัดเจน

สำหรับประเด็นที่ภาคเอกชนอยากให้รัฐบาลเร่งดำเนินการ คือ การให้ความเข้าใจและการให้ข้อมูลเกี่ยวกับแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน วงเงิน 2 ล้านล้านบาท ทั้งกับภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน โดยแนะว่ากระทรวงคมนาคมไม่ควรเน้นแต่เพียงการประชาสัมพันธ์ แต่จะต้องมีแผนที่ตกผลึกแนวความคิดทั้งในระดับนโยบายจนถึงระดับปฎิบัติการท้องถิ่นในลักษณะการบรูณาการร่วมกัน รวมถึงการเปิดรับฟังความคิดเห็นในพื้นที่เส้นทางรถไฟความเร็วสูง รถไฟรางคู่ และถนน ซึ่งภาคเอกชนและภาครัฐในพื้นที่มองว่าบางเส้นทางอาจจะไม่ค่อยเหมาะสม ทั้งแง่ของประโยชน์ใช้สอย และความคุ้มค่าในเชิงพาณิชย์

ส่วนด้านสังคมจากประชาชนซึ่งถูกเวนคืนกรรสิทธิ์ที่ดินนั้น รัฐบาลจะต้องจ่ายค่าที่ดินอย่างเป็นธรรม และจัดหาแหล่งทำกินทดแทน อีกจัดทำผลกระทบทั้งด้านสิ่งแวดล้อม(EIA) และผลกระทบด้านสุขภาพ(HIA) โดยรัฐบาลต้องกำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อรักษาและดูแลสิ่งแวดล้อม ทั้งป่าต้นน้ำ ชายฝั่งทะเล และลำน้ำ รวมทั้งดูแลไม่ให้เกิดมลพิษและสารปนเปื้อนในดิน น้ำ และอากาศ ไม่ว่าจะเป็นในช่วงระหว่างก่อสร้างโครงการและหลังโครงการแล้วเสร็จ

นายธนิต กล่าวว่า จากผลการศึกษาของแต่ละภาคสรุปได้ว่า ภาคเอกชนและท้องถิ่นภาคเหนือมีความต้องการ เช่น การพัฒนาสถานีรถไฟและพื้นที่โดยรอบ เช่น สถานีตาคลี จ.นครสวรรค์ สถานีเด่นชัย จ.แพร่ สถานีพะเยา สถานีเชียงของ จ.เชียงราย,ขอให้ทบทวนเส้นทางรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ โดยเห็นว่าเส้นทางที่เหมาะสมคือ กรุงเทพฯ-เด่นชัย-เชียงใหม่ ขณะที่เส้นทางจ.สุโขทัยเป็นเส้นทางรถไฟความเร็วสูงที่เหมาะสม, ขอให้ชะลอการบังคับใช้ผังเมืองใหม่ เพื่อให้บรูณาการกับโครงสร้างพื้นฐาน, ขอให้พิจารณาสร้างเส้นทางถนน 4 ช่องจราจรจ.อุตรดิตถ์ ถึงด่านภูดู่

ส่วนสิ่งที่ภาคเอกชนและท้องถิ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีความต้องการ เช่น ขอให้ขยายเส้นทางรถไฟความเร็วสูงจากกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ไปถึงจ.ขอนแก่น, การพิจารณาเส้นทางรถไฟเชื่อมโยง จ.ขอนแก่น-จ.พิษณุโลก, ขอให้ทบทวนเส้นทางรถไฟบ้านไผ่-บัวใหญ่ โดยเห็นว่าเส้นทางที่เหมาะสมควรจะเป็นเส้นทาง อ.ท่าพระ-มหสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร, ขอให้ชะลอการบังคับใช้ผังเมืองใหม่ หรือขอให้ปรับปรุงแก้ไขให้สอดคล้องกับโครงสร้างพื้นฐาน สำหรับที่ประกาศออกมาแล้ว

ส่วนภาคเอกชนและท้องถิ่นภาคกลางต้องการ เช่น ขอให้กำหนดพื้นที่ในการก่อสร้าง ICD ที่จ.อยุธยา และ ICD แก่งคอย จ.สระบุรี, ขอให้เลื่อนหรืองดใช้ผังเมืองใหม่ เพื่อปรับปรุงแก้ไขสอดคล้องกับโครงสร้างพื้นฐานใหม่, ขอให้เร่งรัดในการเปิดด่านถาวร และก่อสร้างเส้นทางด่านสิงขร-มะริด, ขอให้มีความชัดเจนเกี่ยวกับการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวายว่าจะพัฒนาอย่างไรและจะเสร็จเมื่อใด

สำหรับสิ่งที่ภาคเอกชนและท้องถิ่นภาคตะวันออกมีความต้องการ เช่น ขอให้ทบทวนสถานีและจุดรับส่งผู้โดยสารของรถไฟความเร็วสูง เห็นว่าน่าจะใช้เส้นทางจุดจอดระหว่างมาบเอียงกับเขาไม้แก้ว หรือบ่อวิน-พัทยา มาบตพุต หรือบ้านฉาง, ขอความชัดเจนท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 และการพัฒนาท่าเรือชายฝั่งที่ท่าเรือแหลมฉบัง, กำหนดยุทธศาตร์ Twin City กทม.-ชลบุรี รองรับเส้นทางรถไฟความเร็วสูง, ขอให้พิจารณาการใช้สนานบินอู่ตะเภาเป็นสนามบินแห่งที่ 3

ส่วนสิ่งที่ภาคเอกชนและท้องถิ่นภาคใต้มีความต้องการ เช่น ขอให้ส่งเสริมการพัฒนาสถานีขนส่งสินค้า ICD ชุมทางทุ่งสง โดยขอให้ รฟท.กำหนดค่าเช่าพื้นที่ในอัตราที่มีความเป็นไปได้เชิงพาณิชย์, ขอให้พิจารณาก่อสร้างระบบรางคู่ หาดใหญ่-สุไหงโกลก, ขอให้มีการชะลอการบังคับใช้ และปรับปรุงแก้ไขผังเมืองใหม่ให้สอดคล้องกับโครงสร้างพื้นฐาน, ขอให้พิจารณาขยายท่าอากาศยานนานาชาติหาดใหญ่และภูเก็ต, ขอให้เร่งรัดบรรจุงบประมาณก่อสร้างทางมอเตอร์เวย์ สะเดา-หาดใหญ่ ไว้ในแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่ง

อย่างไรก็ตาม ในวันนี้เป็นการชี้แจงต่อหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องให้รับทราบถึงผลการศึกษาของความต้องการของภาคเอกชน หลังจากนั้นจะมีการเสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้รับทราบ ภายในสิ้นเดือนส.ค.ต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ