โดยรองศาสตราจารย์ ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ กล่าวว่า ร่างพระราชบัญัติ(พ.ร.บ) เงินกู้ 2 ล้านล้าน ควรมีเนื้อหาและกระบวนการเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ เพื่อให้มีการตรวจสอบได้ว่าขัดต่อกฎหมายที่กำหนดหรือไม่ ซึ่งการพิจารณาต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรม โดยมองว่าขัดรัฐธรรมนูญ คือ ม.169 การจ่ายเงินแผ่นดินจะกระทำได้ คือ ต้องกำหนดไว้ว่าเป็นงบประมาณรายจ่าย เว้นแต่เป็นกรณีเร่งด่วน พร้อมทั้งขัดต่อเนื้อหากฏหมายเพราะรัฐธรรมนูญกำหนดว่าการที่ใช้อำนาจรัฐต้องเป็นไปตามหลักความจำเป็น ไม่เกิดผลกระทบ และเป็นไปตามหลักพอสมควร ซึ่งมาตรการตามกฎหมายจะต้องกระทบและเป็นภาระประชาชนน้อยที่สุด หากกระทบประชาชนถือว่าไม่ใช่มาตรการที่จำเป็น
ทั้งนี้การทำรถไฟความเร็วสูงมีทางเลือกอื่นหรือไม่ที่จะเกิดภาระน้อยกว่านี้ เช่นการร่วมลงทุนหรือการสัมปทาน จึงมองว่าไม่เป็นไปหลักอันพอสมควร และขัดกับหลักการมีส่วนร่วมของประชาชนตามมาตรา 57 วรรค 2 ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเวียนคืนที่ดิน และส่งผลกระทบต่อประชาชน รัฐควรมีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน แต่ไม่มีการดำเนินการ รวมทั้งขัด ตามมาตรา 67 วรรค 2 เพราะเป็นโครงการระดับชาติ เชื่อว่าผ่านสภาผู้แทนราษฎร แต่จะขัดเรื่องกฏหมายรัฐธรรมนูญ แต่หากต้องดำเนินโครงการควรแยกหลายโครงการออกจากกัน เพื่อให้ดำเนินโครงการที่พร้อมต่อไปได้
ด้าน ดร.สกนธ์ วรัญญูวัฒนา กล่าวว่า มองในเชิงเศรษฐกิจ และการพัฒนาประเทศ โครงการสองล้านล้านมีความจำเป็น และคงไม่มีใครปฎิเสธที่จะไม่ต้องการ แต่การได้มาของโครงการนี้ต้องไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ซึ่งกระบวนการพิจารณาควรกว้างกว่าการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน รถไฟความเร็วสูง รถไฟเลนด์คู่ และมองว่าการพิจารณาโครงการยังขาดแนวทางการพัฒนาประเทศ ตามพื้นที่ต่างๆ และประโยชน์ที่จะได้รับ หากปล่อยให้โครงการเดินหน้าโดยไม่มีการพิจารณาในเรื่องนี้จะส่งผลต่อประเทศในระยะยาว จากการศึกษาพบว่ามีช่องว่างที่จะใช้งบประมาณของประเทศในการสนับสนุนโครงการปีละไม่ต่ำกว่า 2 แสนล้าน จึงมองว่าทำไมต้องมีการดำเนินโครงการโดยใช้เงินนอกงบประมาณ
อย่างไรก็ตามมองว่างบประมาณรายจ่ายประจำของประเทศมีกว่าร้อยละ80 งบประมาณการลงทุนมีเพียงร้อยละ 10 เท่านั้น อีกทั้งมองว่าทำไมไม่ร่วมกับเอกชนในการดำเนินโครงการ เพื่อแบ่งเบาภาระจากการลงทุนจนเป็นภาระของรัฐบาลเพียงอย่างเดียว เรื่องนี้เป็นเรื่องของกระทรวงคมนาคมเพียงหน่วยงานเดียว จากที่มีเงินงบประมาณทุกปีกว่า9 หมื่นล้าน หากเพิ่มเรื่องนี้เข้าไป จะทำให้มีการบริหารเงินเพิ่มขึ้น จึงมองว่ากระทรวงคมนาคมมีศักยภาพในการบริหารเงินงบประมาณหรือไม่ และโครงสร้างนี้มีความคุ้มค่าหรือไม่ ต้องมีการติดตามประเมินผลของโครงการด้วย เพราะส่งผลกระทบต่อประชาชน จึงต้องพิจารณาให้รอบคอบค่อยดำเนินโครงการ
ดร. สุเมธ องกิตติกุล กล่าวว่า พ.ร.บ. เงินกู้2 ล้านล้าน เป็นการนำหลายอย่างมารวมไว้ในโครงการนี้ จึงเกิดการตั้งข้อสงสัยเกิดขึ้น ดังนั้นต้องดูรายละเอียดของ พ.ร.บ.เงินกู้2ล้านๆอย่างรอบคอบ ซึ่งกว่าร้อยละ80 เป็นงบประมาณที่ใช้ดำเนินการของระบบราง ซึ่งมีหลายโครงการที่ยังไม่ได้ดำเนินการและยังไม่ทำการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ รวมไปถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมด้วย ทั้งนี้ในโครงการดังกล่าวจากยอดเงินทั้งหมด มีโครงการที่พร้อมดำเนินการในเงินงบประมาณเพียง 4-5แสนล้านเท่านั้น อีกทั้งมองว่ามีหลายโครงการที่พร้อมและควรสนับสนุนและมีหลายโครงการที่ไม่ควรสนับสนุน รัฐบาลควรปรับจำนวนเงินงบประมาณลงหรือไม่ การทำรถไฟแตกต่างจากการทำถนน เพราะถนนเป็นการทำเพื่อสาธารณะไม่มีการเก็บค่าใช้จ่าย แต่การทำรถไฟเป็นการลงทุนที่ต้องมีการบริหารจัดการให้ดำเนินต่อไปได้และหากประชาชนจะใช้บริการก็ต้องจ่ายค่าบริการด้วย
อย่างไรก็ตามการดำเนินโครงการรถไฟแน่นอนว่าจะเกิดหนี้จำนวนมากในทุกประเทศ แต่ในต่างประเทศพบว่าเป็นปัญหาจึงมีการปฎิรูปโครงสร้างการลงทุนด้านรถไฟ และประเทศไทยต้องใช้เวลาสักระยะในการปฏิรูปเรื่องนี้ เพื่อไม่ให้เป็นภาระงบประมาณของประเทศ และควรมีการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ และความคุ้มค่าด้วย