สำหรับปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้ ได้แก่ การประกาศตัวเลขจีดีพี ไตรมาส 2/56 ของสหรัฐฯ ในวันที่ 31 ก.ค.นี้ ซึ่งอาจส่งผลต่อมุมมองของแผนการลดหรือยุติมาตรการ QE4 รวมถึงการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ ในวันที่ 30-31 ก.ค.นี้ ที่อาจมีความคืบหน้าของแผนดังกล่าว
ติดตามตัวเลขปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะปรับลดลงต่อเนื่อง หลังปรับลดลงติดต่อกันถึง 4 สัปดาห์ เป็นปริมาณถึง 30 ล้านบาร์เรล ซึ่งจะส่งผลให้ราคาน้ำมันในสหรัฐฯ ปรับสูงขึ้น ขณะที่ปริมาณน้ำมันเบนซินและดีเซลคงคลังก็ปรับลดลงด้วย ซึ่งอาจส่งผลให้นักลงทุนตัดสินใจเทขายเพื่อทำกำไรในสัปดาห์นี้
การส่งออกน้ำมันดิบของซูดานใต้ประมาณ 300,000 บาร์เรลต่อวัน จะต้องหยุดลงในช่วงสิ้นเดือน ก.ค. นี้ ตามที่ซูดานประกาศไว้หรือไม่ ล่าสุดสหภาพแอฟริกาได้เข้ามาเป็นตัวกลางในการเจรจากับซูดานเพื่อให้ซูดานใต้สามารถส่งออกน้ำมันได้ต่อไป
จับตาตัวเลขดัชนีชี้วัดภาคการผลิตของสหรัฐฯ (ISM and PMI index) ดัชนีภาคการผลิตยูโรโซน (Markit PMI) และดัชนีภาคการผลิตจีน (Official and HSBC PMI) ที่จะประกาศในสัปดาห์นี้ โดยตัวเลขดัชนีภาคการผลิตเบื้องต้นของจีนที่ประกาศเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 อย่างไรก็ดีตัวเลขภาคการผลิตเบื้องต้นของสหรัฐฯ และยูโรโซนออกมาดีขึ้น
ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ ยอดขายบ้านรอปิดการขาย การจ้างงานภาคเอกชน — นอกภาคเกษตร อัตราการว่างงานสหรัฐฯ และอัตราการว่างงานเยอรมนีและยูโรโซน รวมถึงความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ความรู้สึกผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจเยอรมนี (Gfk index) และยูโรโซน เป็นต้น