สศก.เผยเศรษฐกิจภาคเกษตร H1/56 ทรุดจากภัยแล้ง-โรคกุ้ง,คาดทั้งปีโต 1.5-2.5%

ข่าวเศรษฐกิจ Monday July 29, 2013 13:39 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร(สศก.)โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงภาวะเศรษฐกิจการเกษตรครึ่งแรกของปี 2556 พบว่า ขยายตัวเพียงร้อยละ 0.4 เนื่องมาจากผลกระทบสถานการณ์ภัยแล้ง ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องมาตั้งแต่ปลายปี 2555 จนถึงเดือนพฤษภาคม 2556 ประกอบกับภาวะฝนทิ้งช่วงในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาส่งผลให้พื้นที่ทำการเกษตรพืชเศรษฐกิจสำคัญหลายชนิดได้รับความเสียหายเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังรอบสองในแถบลุ่มเจ้าพระยาตอนบนในข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ สับปะรดโรงงาน ถั่วเหลือง ลำไย และ เงาะ มีผลผลิตลดลงจากปัญหาภัยแล้งที่ส่งผลให้ปริมาณน้ำในเขื่อนมีไม่เพียงพอ

อย่างไรก็ตาม ผลผลิตข้าวนาปีที่เพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยและปริมาณน้ำที่เพียงพอ รวมทั้งไม่พบปัญหาศัตรูพืชและโรคระบาดที่รุนแรงในช่วงการเพาะปลูก ขณะที่ผลผลิตมันสำปะหลังและอ้อยโรงงานเพิ่มขึ้นจากแรงจูงในด้านราคาเมื่อปี 2555 ที่อยู่ในเกณฑ์ดี ตลอดจนการใช้ท่อนพันธุ์ที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ทำให้มีการเจริญเติบโตที่ดีและทนต่อโรคและแมลง

ส่วนพืชเศรษฐกิจหลักของภาคใต้ ทั้งยางพาราและปาล์มน้ำมันได้ทยอยให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นผลมาจากการขยายตัวของพื้นที่กรีดยางใหม่และพื้นที่ให้ผลผลิตใหม่ของปาล์มน้ำมันและในส่วนของทุเรียนและมังคุดที่เพิ่มขึ้นเป็นเพราะสภาพอากาศที่ค่อนข้างเอื้ออำนวยต่อการติดดอกออกผล ขณะที่ผลผลิตสับปะรด มีปริมาณลดลงจากการลดการปลูกแซมในสวนยางพาราเนื่องจากต้นยางที่เริ่มโตขึ้น

ด้านผลผลิตถั่วเหลืองลดลงจากกาลดพื้นที่การเพาะปลูก เนื่องจากราคาเมล็ดพันธุ์ที่แพงและขาดแคลนทำให้ผลตอบแทนที่ได้ไม่คุ้มค่าการลงทุน ส่วนลำไยและเงาะมีปริมาณลดลงจากการติดดอกออกผลที่ล่าช้ากว่าปกติ

สำหรับการผลิตสาขาปศุสัตว์ยังคงขยายตัวได้ดี ร้อยละ 1.6 ทั้งการผลิตไก่เนื้อสุกร และไข่ไก่ แม้ว่าจะมีสภาพอากาศที่ร้อนจัดในบางช่วงจนทำให้สัตว์มีการเจริญเติบโตช้า โดยผลผลิตไก่เนื้อออกสู่ตลาดมากขึ้นจากการขยายการเลี้ยงของผู้ประกอบการขนาดใหญ่ ประกอบกับเกษตรกรรายย่อย ผู้เลี้ยงไก่เนื้อมีระบบการผลิตที่ดีขึ้น ด้านปริมาณการผลิตสุกรนั้นเพิ่มขึ้นจากการผลิตที่กลับเข้าสู่ภาวะปกติภายหลังจากได้รับผลกระทบจากโรคทางระบบสืบพันธุ์และระบบทางเดินหายใจ (Porcine Reproductive and Respiratory Syndrome: PRRS) ประกอบกับความต้องการเนื้อสุกรที่เพิ่มขึ้นจากประเทศคู่ค้า ได้แก่ ลาว ฮ่องกง และญี่ปุ่น

ในส่วนของสาขาประมงพบว่าหดตัวร้อยละ 7.1 เป็นผลมาจากปริมาณกุ้งทะเลเพาะเลี้ยงที่ออกสู่ตลาดลดลงอย่างมากจากปัญหาการระบาดของโรคตายด่วนหรือโรค EMS ในแหล่งผลิตที่สำคัญทั้งในภาคตะวันออกและภาคใต้ ทำให้ผลผลิตกุ้งทะเลเพาะเลี้ยงได้รับความเสียหายประมาณร้อยละ 30-40 ประกอบกับผลผลิตจากการทำประมงทะเลมีปริมาณลดลงเช่นเดียวกันโดยปริมาณสัตว์น้ำที่นำขึ้นท่าเทียบเรือในภาคใต้รวมทุกท่าลดลงประมาณร้อยละ 4.7 ขณะที่ผลผลิตประมงน้ำจืดมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจการเกษตรปี 2556 คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2555 อยู่ในช่วงร้อยละ 1.5—2.5 ซึ่งลดลงจากที่คาดการณ์เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เนื่องจากสถานการณ์ภัยแล้งและโรคระบาดในกุ้งทะเลเพาะเลี้ยงเป็นสำคัญ ในภาพรวมทั้งปี 2556 ผลผลิตพืชสำคัญหลายชนิดมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากแรงจูงใจด้านราคาเกษตรกรจึงขยายพื้นที่เพาะปลูกและมีการดูแลเอาใจใส่มากขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ