ขณะที่ดัชนีราคาสินค้าเกษตรเดือนมิ.ย. ปี 56 เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.92 เมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายน ปี 55 โดยภาพรวมพบว่า สินค้าเกษตรที่มีราคาปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ ทุเรียน เงาะ สุกร ไก่เนื้อและไข่ไก่ สำหรับ ทุเรียน ราคาสูงขึ้นเนื่องจากความต้องการส่งออกมีมาก และเงาะราคาสูงขึ้น เนื่องจากผลผลิตมีคุณภาพดีกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ส่วนสุกร ไก่เนื้อและไข่ไก่ราคาสูงขึ้น เนื่องจากต้นทุนการผลิตสูงขึ้น (Cost Push)
อย่างไรก็ตาม สินค้าที่มีราคาปรับตัวลดลง ได้แก่ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ลองกองและมังคุด โดย ยางพารา ราคาลดลง เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดมากกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ประกอบกับเศรษฐกิจโลกยังคงชะลอตัว ปาล์มน้ำมัน ราคาลดลง เนื่องจากผลผลิต และปริมาณสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบมากกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ลองกองและมังคุด ราคาลดลง เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดมากและคุณภาพไม่ค่อยดี
หากเทียบกับเดือนพฤษภาคม ปี 2556 พบว่า ดัชนีราคาลดลงร้อยละ 0.66 ซึ่งสินค้าที่มีราคาปรับตัวลดลง ได้แก่ ยางพารา ทุเรียน ลองกอง เงาะและมังคุด โดยยางพารา ราคาลดลง เนื่องจากความต้องการยางในตลาดต่างประเทศชะลอตัวลง ประกอบกับราคาตลาดล่วงหน้า TOCOM มีแนวโน้มลดลง สำหรับทุเรียน ลองกอง เงาะและมังคุด ราคาลดลง เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดมาก
ด้านสินค้าที่ราคาปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ ปาล์มน้ำมันและไข่ไก่ โดยปาล์มน้ำมัน ราคาสูงขึ้น เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยลง ประกอบกับปริมาณสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบของมาเลเซียซึ่งเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ลดลง ไข่ไก่ราคาสูงขึ้น เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดลดลงจากสภาพอากาศแปรปรวน
ด้านดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร เมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว (ปี 55) พบว่า ภาพรวมผลผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 8.50 โดยสินค้าสำคัญที่ผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ทุเรียน ลองกอง เงาะ มังคุด สุกร และไก่เนื้อ สำหรับสินค้าสำคัญที่ผลผลิตปรับตัวลดลง ได้แก่ สับปะรดโรงงาน และไข่ไก่
หากเปรียบเทียบกับเดือนพฤษภาคม ปี 56 พบว่าดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.93 ซึ่งสินค้าสำคัญที่ปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ทุเรียน ลองกอง เงาะ มังคุด ไก่เนื้อ และไข่ไก่ สินค้าสำคัญที่ผลผลิตลดลง ได้แก่ สับปะรดโรงงาน